การบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อการรองรับการรวมกลุ่ม AEC
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อการรองรับการรวมกลุ่ม AEC มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือน กลยุทธ์ในการบริหารการจัดการอุตสาหกรรมในครัวเรือน วิวัฒนาการของรูปแบบการบริหารและการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการบริหารและระบบการผลิต กลุ่มประชากรที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยรวบรวมจากการศึกษาภาคเอกสาร เช่น หนังสือ งานวิจัย ตำรา วารสาร บทความที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการศึกษาโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและข้อวิจารณ์แนวความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจากวารสารและบทความแล้วนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ในลักษณะการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลและผลการวิจัยเป็นลักษณะการวิจัยเชิงพรรณนา โดยโยงความสัมพันธ์ตามหลักตรรกะ
ผลการศึกษาพบว่า
- กลยุทธ์ในการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือน
อุตสาหกรรมในครัวเรือนจะถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบยั่งยืนได้จะต้องมีกลยุทธ์ในการบริหาร คือ (1) ต้องยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์ สร้างความเข้มแข็งของการบริหารงานภายในกลุ่มคลัสเตอร์ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม โดยการขจัดอุปสรรคกีดขวางทางการค้า การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้เหมาะสม การขจัดข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง สนับสนุนการศึกษาอบรมและการฝึกฝนบุคลากรและให้ความช่วยเหลือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน (2) ต้องยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้เกิดความเข็มแข็งและยั่งยืน คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SME โดยดึงดูดให้ประชาชนให้ความสนใจในการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการไทยในรูปแบบของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้กับสินค้าและบริการ สร้างความเข็มแข็งของผู้ประกอบการ SME เตรียมความพร้อมสู่การเปิดเสรี สร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่ ๆ และสร้างโอกาสจากความร่วมมือในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (3) ยกระดับโครงสร้างสนับสนุนอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ เช่น การบังคับใช้มาตรฐานการผลิตในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยกระดับศักยภาพบุคลากร พัฒนาทักษะแรงงานอุตสาหกรรมในครัวเรือน พัฒนากฎระเบียบและข้อบังคับที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่งเสริมการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
- วิวัฒนาการของการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือน
การบริหารและกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมในครัวเรือนในอดีตนั้น เริ่มจากผู้นำคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านโดยการรับรู้และได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตและสินค้าที่ผลิตจากภายนอก ซึ่งลักษณะของผลิตได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ตนเองได้รับความรู้มาบ้างพอสมควร จึงได้นำเข้ามาทดลองทำในชุมชน ผู้นำขยายเครือข่ายระบบการผลิต เริ่มจากบุคคลเพียงคนเดียวในหมู่บ้านซึ่งเป็นการเริ่มในระดับครอบครัวก่อนมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ช่วยเหลือ ต่อมาได้มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นโดยเพื่อนบ้านและเครือญาติ
- ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการบริหารและระบบการผลิตของอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการบริหารและระบบการผลิตของอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ตลาด วัตถุดิบ หน่วยงานราชการให้การส่งเสริม ทุน แรงงาน ที่ดิน ผู้ประกอบการ สาธารณูปโภค การขนส่ง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อการบริหารและระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น นโยบายรัฐบาล คุณภาพมาตรฐาน กฎหมาย ความปลอดภัย เศรษฐกิจชุมชน ระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการศึกษาในวงจำกัดเพียงการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อการรองรับการรวมกลุ่ม AEC ซึ่งประกอบด้วย วิธีการ กลยุทธ์ในการบริหาร วิวัฒนาการของรูปแบบการบริหารและการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการบริหารและระบบการผลิตเท่านั้น จึงอาจทำให้ทฤษฎีหรือกระบวนการการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือนวิเคราะห์ไม่หลากหลายนัก หากมีผู้สนใจจะทำการศึกษาต่อ ควรขยายเขตการวิจัยออกไปสู่ ยุทธศาสตร์ ทฤษฎี แนวทางในการบริหารอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ประสบผลสำเร็จ
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตสาเกตปริทรรศน์ ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆบทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตสาเกตปริทรรศน์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารบัณฑิตสาเกตปริทรรศน์ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษรจากวารสารบัณฑิตสาเกตปริทรรศน์ ก่อนเท่านั้น
References
กาญจนา แก้วเทพ. (2535). ม่านแห่งอคติ: ความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับสถาบันสังคม. กรุงเทพฯ:
เจนเดอร์เพรส.
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์. (2528). แผนพัฒนา ฉบับที่ 1-5: สาระและผลการพัฒนาโดยสังเขป. วารสารเศรษฐกิจและสังคม. (มกราคม-กุมภาพันธ์).
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2527). เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต. นนทบุรี: สร้างสรรค์จำกัด.
นิตยา เงินประเสริฐศรี. (2542). ทฤษฎีองค์การ: แนวการศึกษาเชิงบูรณาการ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาวนา พัฒนศรี. (2528). แนวคิดเกี่ยวกับการทำให้เป็นอุตสาหกรรม. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิทยากร เชียงกูล. (2534). เศรษฐกิจกับการเมืองของชนบทไทยในปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สมพงษ์ เกษมสิน. (2521). การบริหาร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์.
สุนันทา สุวรรโณดม และ ศิริวรรณ ศิริบุญ. (2535). โครงสร้างทางประชากรและสังคมกับความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเกษตรกรรม. สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุรนาท ขมะณะรงค์. (2533). อุตสาหกรรมชนบทกิจการพัฒนาเศรษกิจและสังคม. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2(8).
อันธิกา สุปริยศิลป์ และชลิฎา นิภารักษ์. (2528). การศึกษาอุตสาหกรรมในครัวเรือนในเชียงใหม่และลำพูน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.