ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครในการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบก

Authors

  • ฆณฬส ศรีงามเมือง นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Keywords:

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน, อุบัติเหตุจราจรทางบก, กรุงเทพมหานคร

Abstract

Bangkok Emergency Medical Service response to the road traffic accident

การศึกษาเรื่อง “ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครในการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบก” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร โดยเปรียบเทียบกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส 2) สำรวจองค์ประกอบสนับสนุนการทำงานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร 3) ระดับการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบกของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร 4) ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนปัจจัยที่สนับสนุนต่อการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบกของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร และ 5) เพื่อเสนอแนะการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครที่ตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบก โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-Hospital) ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามใน 4 กลุ่ม คือ 1) หน่วยปฏิบัติการขั้นสูง 2) หน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดโรงพยาบาล 3) หน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดมูลนิธิ 4) ศูนย์เอราวัณ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย

ผลของการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 กลุ่ม มีการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในขั้นตอนต่างๆ ในระดับมาก โดยพบว่าหน่วยปฏิบัติการขั้นสูง ได้ดำเนินการในขั้นการนำส่งสถานพยาบาลมากที่สุด (= 2.70) โดยประเด็นที่มีการปฏิบัติการมากที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บลงจากรถ พร้อมดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดโรงพยาบาล ให้ความสำคัญกับขั้นการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ (= 2.63) ในประเด็นเรื่องการจัดเตรียมรถเข็นลงจากรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ และช่วยเตรียมผู้บาดเจ็บในการเคลื่อนย้ายตามสภาพการบาดเจ็บและนำขึ้นรถพยาบาล หน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดมูลนิธิ มีการปฏิบัติการมากที่สุดคือ การแจ้งเสร็จสิ้นภารกิจเพื่อให้ทราบว่าพร้อมปฏิบัติการครั้งต่อไป (= 2.68) ศูนย์เอราวัณ พบว่ามีการดำเนินการในขั้นกลับถึงฐานปฏิบัติการมากที่สุด (= 3.00) ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบเวลาและเลขไมล์ รวมถึงการตรวจสอบและบันทึกแบบรายงานการรับแจ้งเหตุและสั่งการ สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละขั้นอยู่ในระดับปานกลาง โดยขั้นที่มีความคิดเห็นว่ามีปัญหาและอุปสรรคสูงสุด คือ ขั้นการรับแจ้งเหตุ (= 1.56) โดยหน่วยปฏิบัติการขั้นสูง มีความคิดเห็นว่าต่อประเด็นปัญหาเรื่องหมายเลขแจ้งเหตุมีหลายหมายเลข ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน สำหรับหน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดโรงพยาบาล มีความคิดเห็นต่อประเด็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ สำหรับหน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานสังกัดมูลนิธิและศูนย์เอราวัณ มีความคิดเห็นว่าต่อประเด็นปัญหาด้านผู้แจ้งเหตุไม่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องเนื่องจากตื่นเต้น ตกใจ และพบว่าปัจจัยที่สนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินมากที่สุด คือ ด้านบุคลากร (=3.41) ในประเด็นเรื่องความมุ่งมั่น ตั้งใจให้บริการ หลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสม ประกอบกับบุคลากรได้รับการฝึกอบรม และฝึกทบทวนการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจากผลการศึกษาเรื่องปัจจัยสนับสนุนสามารถระบุได้ถึงระดับการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบกของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร โดยพบว่ามีระดับการตอบสนองทั้ง 3 มิติ (ความยืดหยุ่นองค์การ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค และการเปิดกว้างทางวัฒนธรรม) ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ถือได้ว่าระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลกรุงเทพมหานครเป็นระบบที่มีการปฏิบัติการในการปรับตัว (Operative Adaptive System)

ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครในการตอบสนองต่ออุบัติเหตุจราจรทางบกควร 1) พัฒนามิติด้านความยืดหยุ่นขององค์การ โดยการนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครในรูปแบบของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในเครือข่ายให้มีความเชี่ยวชาญ มีคุณสมบัติเหมาะสม และพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชนให้เป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน การสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้กลุ่มอาสาสมัครสนใจเข้าร่วมเครือข่าย นอกจากนี้ควรประสานความร่วมมือกับตำรวจ เทศกิจให้เป็นบุคลากรด่านหน้า (First Responder) และประสานความร่วมมือกับสำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง และสถานีดับเพลิง ให้เป็นหน่วยปฏิบัติการขั้นพื้นฐานเพิ่มเติม ตลอดจนขอความร่วมมือสถานศึกษาเพิ่มกิจกรรมให้ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินในกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด 2) พัฒนามิติโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค โดยพัฒนาวิธีการติดต่อสื่อสาร โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องมือหาพิกัดด้วยดาวเทียม (GPS) ในรถพยาบาล พร้อมเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลพื้นที่เสี่ยง บัญชีรายชื่อหน่วยงานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ สิทธิการรักษาพยาบาล สถานะความพร้อมของโรงพยาบาล และระบบเส้นทางการจราจรแบบ ณ เวลาจริง (Real Time) การพัฒนาเกณฑ์วิธีปฏิบัติ (Protocol) เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติการและเป็นการควบคุมทางการแพทย์ทางอ้อม 3) พัฒนามิติด้านการเปิดกว้างทางวัฒนธรรม เน้นการสร้างค่านิยม เป้าหมายร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย ตลอดจนสร้างการยอมรับในบทบาท ขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในเครือข่าย รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผ่านการประชุมระหว่างแม่โซน เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน มีการทบทวนการปฏิบัติงานเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

Downloads

Issue

Section

บทความวิชาการ