มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดี ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ผู้แต่ง

  • ศรชัย เชี่ยวชาญ
  • ประทีป ทับอัตตานนท์

คำสำคัญ:

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา, ผู้เสียหาย, ค่าธรรมเนียม

บทคัดย่อ

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง คดีแพ่งที่ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลฐาน ความรับผิดเนื่องมาจากผลของการกระทำความผิดในทางอาญาโดยตรง ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดในทางแพ่งด้วย ผู้เสียหายในคดีอาญาจึงมีความต้องการให้มีการเยียวยาในสิ่งที่ตนได้สูญเสียไป และให้รัฐดำเนินคดีกับจำเลยทั้งในทางอาญา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในทางแพ่ง จากการศึกษาพบว่า กระบวนการดำเนินการในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นมีปัญหาในเรื่องของการดำเนินการตั้งแต่ชั้นฟ้องร้องคดีตลอดจนถึงชั้นบังคับคดี อันเนื่องมาจากผู้เสียหายไม่ทราบว่าพนักงานอัยการจะทำการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเมื่อใด และไม่ทราบว่าตนจะต้องดำเนินการอย่างไรในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งถ้าหากผู้เสียหายทราบถึงขั้นตอนการฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว ผู้เสียหายในคดีอาญาอาจยื่นคำร้องขอไปพร้อมคำฟ้องของพนักงานอัยการได้ ซึ่งศาลจะได้พิพากษาเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปพร้อมกันกับคดีในส่วนอาญา โดยผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 (สุวิชญา มูสิกะสงค์ และคณะ, 2559) และปัญหาที่ตามมาคือหากมีคำพิพากษาให้ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ผู้เสียหายก็ยังคงต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎวิธีพิจารณาความแพ่ง ก่อนจะมีการบังคับชำระคดีเสร็จ ไม่ว่าจะทำการฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วยตนเอง หรือยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับคดีคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีจุดประสงค์ในการช่วยเหลือผู้บริโภคซึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีเทียบเท่าผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งเช่นเดียวกัน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาช่วยดำเนินการในทุกขั้นตอนจนแล้วเสร็จ โดยผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และเมื่อเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ เช่น ประเทศสวีเดน ในกรณีที่ผู้เสียหายมีการฟ้องร้อง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งซึ่งอาจแยกฟ้อง หรือฟ้องร่วมกับคดีอาญา การเรียกร้องค่าเสียหายจะอยู่บนพื้นฐานของการชดเชย หลังจากพิจารณาคดีเสร็จผู้เสียหายจะได้รับแจ้งจากหน่วยงานบังคับคดีสอบถามว่าประสงค์จะให้หน่วยงานนั้นเรียกเก็บเงินค่าเสียหายจากจำเลยแทนผู้เสียหายหรือไม่ หากผู้เสียหายมีความประสงค์ให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการ ผู้เสียหายเพียงกรอกแบบฟอร์ม และส่งกลับไปยังหน่วยงานนั้น โดยการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ อย่างไรก็ดี การจะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น จะต้องคำนึงถึงสังคม และตัวบทกฎหมายซึ่งไม่ควรจะขัดกันเองอีกด้วย อีกทั้งรัฐควรมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ และดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมทั้งยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหลักการเยียวยาผู้เสียหายในรัฐธรรมนูญ

References

เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์. (2548). หลักความเสมอภาค. วันที่ค้นข้อมูล 14 สิงหาคม 2562, เข้าถึงได้จาก http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=657&Page=1

คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2559). โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานที่ทําหน้าที่กํากับดูแลระบบการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่ออาชญากรรมโดยเฉพาะและครบวงจร: กรณีศึกษาประเทศสวีเดน. สนับสนุนโดยสํานักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจําเลยในคดีอาญากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม.

คณิต ณ นคร. (2558). กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

คณิต ณ นคร. (2561). กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

จิตติ ติงศภัทิย์. (2536). คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแพ่งเนติบัณฑิตยสภา.

สุเทพ เอี่ยมคง. (2559). สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย. วันที่ค้นข้อมูล 14 สิงหาคม 2562, เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

สุวิชญา มูสิกะสงค์ และคณะ. (2559). ปัญหาในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1. ผลงานสัมมนาของการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้บริหารศาลยุติธรรมระดับกลาง” รุ่นที่ 13.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-25