ปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของใบตราส่งต่อเนื่องในฐานะเอกสารสิทธิภายใต้ระบบกฎหมายอังกฤษ
คำสำคัญ:
การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ, ใบตราส่งต่อเนื่อง, เอกสารสิทธิบทคัดย่อ
ในปัจจุบันรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต กล่าวคือ การขนส่งรูปแบบเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งมีบทบาทน้อยลง แต่ในทางกลับกันการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งบูรณาการรูป แบบการขนส่งที่หลากหลายมารวมเข้าด้วยกันเป็นระบบปฏิบัติการการขนส่งเดียวกลับมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลสืบมาเนื่องจากการพัฒนาการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ ปฏิบัติการขนส่งและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้ว่าการเติบโตของการขนส่งด้วย ตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวกลับไม่ถูกสะท้อนให้เห็นในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ยังไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ฉบับใดที่มีจำนวนประเทศสมาชิกรับรองถึงเกณฑ์ที่จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งสร้างความสอดคล้อง กลมกลืน และบรรทัดฐานในระดับนานาชาติ ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาความไม่เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกันของกฎหมายที่ใช้บังคับกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในบริบทของใบตราส่งต่อเนื่อง ในบางประเทศไม่มีกฎหมายเฉพาะใช้บังคับกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอยู่เลยและหนึ่งในนั้นคือ ประเทศอังกฤษ การไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอนทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของเอกสารดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลเสียในหลากหลายมิติรวมถึงในประเด็นของสถานะเอกสารสิทธิซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับรองสิทธิของผู้รับตราส่งและผู้รับโอนในฐานะผู้ทรงสิทธิที่จะรับมอบสินค้าจากผู้ขนส่ง ณ จุดหมายปลายทางและสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าในระหว่างระยะเวลาขนส่ง หากประเด็นปัญหาความ ไม่แน่นอนดังกล่าวยังคงอยู่ ย่อมส่งผลเสียแก่ผู้รับตราส่งและลดคุณค่าใบตราส่งต่อเนื่องลง อีกทั้งในระดับมหภาคย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ใบตราส่งต่อเนื่องจะได้รับการยืนยันสถานะในระดับเดียวกับใบตราส่งทางทะเลในประเด็นการเป็นเอกสารสิทธิซึ่งให้สิทธิผู้รับตราส่งและผู้รับโอนใบตราส่งภายใต้ระบบกฎหมายอังกฤษ และจากผลการวิเคราะห์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเพื่อรับรองและปกป้องสิทธิของผู้รับตราส่งและผู้รับโอนใบตราส่ง อีกทั้งเมื่อคำนึงถึงวิวัฒนาการของรูปแบบการขนส่งและบทบาทของการใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในปัจจุบัน สถานะในแง่ของการเป็นเอกสารสิทธิมีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับจากศาลอังกฤษในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาความไม่แน่นอนของสถานะของใบตราส่งต่อเนื่องซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน
References
Baughen, S. (2012). Shipping Law (5th ed.). Oxon: Routledge.
Bridge, M. (2014). Transfer of Title by Non-owners. In M. Bridge (ed.), Benjamin’s Sale of Goods. London: Sweet and Maxwell.
Bugden, P., & Lamont-Black, S. (2009). Goods in Transit (2nd ed.). London: Sweet and Maxwell.
Debattista, C. (2009). Bills of Lading in Export Trade (3rd ed.). London: Tottel Publishing.
De Wit, R. (1995). Multimodal Transport: Carrier Liability and Documentation. London: Lloyd’s of London Press.
Lorenzon, F. (2012). C.I.F. and F.O.B. Contracts (5th ed.). London: Sweet & Maxwell.
Ozdel, M. (2012). Multimodal Transport Documents in International Sale of Goods. International Company and Commercial Law Review, 23(7), 238 – 250.
Ramberg, J. (2011). ICC Guide to Incoterms 2010. Paris: ICC Services Publications.
Tettenborn, A. (2014). Bills of Lading, Multimodal Transport Documents, and Other Things. In B. Soyer and A. Tettenborn (eds), Carriage of Goods by Sea, Land and Air: Unimodal and Multimodal Transport in the 21st Century. London: Informa Law.
Thomas, D. R. (2014). ‘International Sale Contracts and Multimodal Transport Documents: Two Issues of Significance’ in B Soyer and A Tettenborn (eds), Carriage of Goods by Sea, Land and Air: Unimodal and Multimodal Transport in the 21st Century. London: Informa Law.
Treitel, G. (2014). Overseas Sales in General. In M. Bridge (ed), Benjamin’s Sale of Goods (9th ed.). London: Sweet and Maxwell.
United Nations Conference on Trade and Development [UNCTAD] (2000). Trade Facilitation and Multimodal Transport. UNCTAD Newsletter, 11.
Wilson, J. F. (2010). Carriage of Goods by Sea (7th ed.). Essex: Pearson Education.