กลยุทธ์การสร้างจิตอาสาขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นัธทวัฒน์ โสภณเศวตศิลป์

คำสำคัญ:

คุณค่าสาธารณะ, จิตอาสา, ทุนทางสังคม

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษากลยุทธ์การสร้างจิตอาสาขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว และวัตถุประสงค์ย่อย คือ 1) เพื่อศึกษาถึงการกำหนดคุณค่าสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว 2) เพื่อศึกษาถึงการสร้างขีดความสามารถการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว 3) เพื่อศึกษาถึงการสร้างความชอบธรรมทางอำนาจขององค์การบริหารส่วนตำบล ดอนแก้ว โดยใช้วิธีการดำเนินงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ทั้งนี้มีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักในการศึกษา จำนวน 72 คน ได้แก่ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว บุคลากรองค์การบริหาร ส่วนตำบลดอนแก้ว ผู้นำชุมชน และกลุ่มจิตอาสา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารเกี่ยวกับการสร้างจิตอาสาขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ผลการศึกษาพบว่า กลยุทธ์การสร้างจิตอาสาขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว มีขั้นตอนในการพัฒนา 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดค่านิยมร่วมกัน คือ ขั้นตอนของการค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และสิ่งที่ชุมชนต้องการ และนำมากำหนดเป็นค่านิยม/ ความเชื่อพื้นฐานทั้งด้านสาธารณสุขคือ “สุขภาพที่ดีเกิดขึ้นได้ด้วยชุมชนเอง” ด้านสังคมคือ “เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง” และด้านสิ่งแวดล้อมคือ“ใครเป็นผู้สร้างขยะ คนนั้นต้องกำจัดขยะด้วยตนเอง” เพื่อส่งมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลดอนแก้ว ขั้นตอนที่ 2 พัฒนาศักยภาพในการดำเนินงาน คือ ขั้นตอนการพัฒนาระบบจิตอาสา หรือระบบ อ. (จิตอาสา) เพื่อเป็นแกนนำหลักในการร่วมขับเคลื่อนดูแลชุมชน ขั้นตอนที่ 3 สร้างข้อตกลงร่วมกันในการดูแลสุขภาพของชุมชน คือ ขั้นตอนการสร้างความยอมรับจากประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุของค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจัดทำบริการสาธารณะมิใช้เป็นเพียงแค่เจตจำนงขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ตำบลดอนแก้วยินยอมพร้อมใจให้จัดทำ เพื่อเป็นหลักประกันแห่งผลประโยชน์ที่สาธารณะพึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

เผยแพร่แล้ว

2020-08-14