แนวทางการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรภาคอุตสาหกรรม จังหวัดปทุมธานี
คำสำคัญ:
การพัฒนา, การสร้างเสริมสุขภาวะ, องค์กรภาคอุตสาหกรรมบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมขององค์กรที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการ 2. เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมขององค์กรที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน และ 3. เพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรภาคอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี การวิจัยแบบผสมทั้งเชิงปริมาณโดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างด้วยแบบสอบถามจำนวน 400 บริษัท และเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร ผู้จัดการและหน่วยงานภาครัฐจำนวน 17 คน พบว่า 1) ผลการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ พบว่า ปัจจัยแวดล้อมขององค์กรโดยรวมสามารถร่วมกันอธิบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการโดยรวมได้ร้อยละ 34.7 (Adjusted R2 = .347) โดยมีปัจจัยแวดล้อมขององค์กรด้านหน้าที่ความรับผิดชอบ และด้านทัศนคติ ส่งผลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมขององค์กรด้านนโยบายและกฎระเบียบส่งผลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาค่าน้ำหนักของผลกระทบของตัวแปรอิสระ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการโดยรวม พบว่า ด้านหน้าที่ ความรับผิดชอบมีน้ำหนักมากสุด (Beta = .248) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 8 ประการโดยรวม 2) ปัจจัยแวดล้อมขององค์กรโดยรวมสามารถร่วมกันอธิบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันโดยรวมได้ร้อยละ 42.4 (Adjusted R2 = .424) โดยมีปัจจัยแวดล้อมขององค์กรด้านนโยบายและกฎระเบียบ และด้านทัศนคติ ส่งผลต่อพฤติกรรมการ อยู่ร่วมกันโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมขององค์กรด้านหน้าที่ความรับผิดชอบส่งผลต่อพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ3) แนวทางการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรภาคอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีประกอบด้วย (1) มาตรการเชิงรุก (2) มาตรการเชิงรับ (3) มาตรการเชิงป้องกัน และ (4) มาตรการการมีส่วนร่วมในการการสร้างเสริมสุขภาวะทั้ง 4 ส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ