การบริหารจัดการการให้บริการเครื่องใช้ในการดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ ของเทศบาลในจังหวัดปทุมธานี
คำสำคัญ:
การบริหารจัดการ, การให้บริการ, เครื่องใช้ในการดับเพลิงแบบเคลื่อนที่, เทศบาลในจังหวัดปทุมธานีบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การให้บริการเครื่องใช้ในการดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ของเทศบาลในจังหวัดปทุมธานี 2) แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการการให้บริการเครื่องใช้ในการดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ของเทศบาลในจังหวัดปทุมธานี และ 3) ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการการให้บริการเครื่องใช้ในการดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ของเทศบาลในจังหวัดปทุมธานีประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5 ด้าน มาปรับใช้เป็นกรอบแนวคิดการวิจัยของการศึกษาครั้งนี้ ระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาครั้งนี้ ได้ออกแบบรูปแบบการวิจัยให้เป็นวิธีการวิจัยแบบผสมโดยเน้นการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักและใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นข้อมูลเสริม การวิจัยเชิงปริมาณเป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลจากประชากรเป็นจำนวนมาก โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสอบถามได้ผ่านการทดสอบเพื่อหาค่าความเที่ยงตรง ได้ค่าเท่ากับ 0.95 และผ่านการหาค่าความเชื่อถือได้ ที่ระดับ 0.83 ประชากร คือ ประชาชนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลเมือง 9 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 410,181 ส่วนกลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 1,109 คน ซึ่งได้มาจากการคำนวณโดยใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ การเก็บรวบรวมข้อมูลสนามดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2561 เก็บรวบรวมแบบสอบถามที่สมบูรณ์กลับคืนมาได้จำนวน 881 ชุด/ คน คิดเป็นร้อยละ 79.44 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,109 คน วิธีวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการวิเคราะห์ในรูปตาราง รวมทั้งใช้รูปแบบการวิเคราะห์เชิงพรรณนา สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการสัมภาษณ์แนวลึกเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงเฉพาะบุคคล และเป็นการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว คนละไม่น้อยกว่า 60 นาที ด้วยแบบสัมภาษณ์แนวลึกที่มีโครงสร้าง ผลการศึกษาพบว่า (1) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่สำคัญคือ เทศบาลในจังหวัดปทุมธานีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการให้บริการเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ไม่มากเท่าที่ควร รวมทั้งให้บริการเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ที่ครอบคลุมและทั่วถึงไม่เพียงพอ (2) แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการที่สำคัญคือ เทศบาลในจังหวัดปทุมธานีควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการให้บริการเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนแก่ประชาชน พร้อมทั้งให้บริการอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น และ (3) ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญทำให้แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการประสบความสำเร็จที่สำคัญ คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการสนับสนุนการให้บริการเครื่องดับเพลิง รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างพอเพียง