แนวทางการยกระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ณัฐกริช เปาอินทร์

คำสำคัญ:

แนวทาง, รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, การพัฒนายกระดับ, ตัวชี้วัด, ประเทศไทย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อกำหนดตัวชี้วัดระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศไทย (2) เพื่อทราบถึงระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาตามตัวแปรชี้วัดที่กำหนดในวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 และ (3) เพื่อเสนอแนะแนวทางการยกระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ในการวิเคราะห์ทดสอบตัวชี้วัดด้วยวิธีการวิเคราะห์สมการโครงสร้างตัวแบบเส้นทางกำลังสองน้อยที่สุดบางส่วน (Partial Least Square Structural Equation Modeling: PLS-SEM) และใช้ซอฟแวร์ Smart PLS เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ด้วยวิธีแบบสองขั้นตอน (Two step approach to modeling) ขณะที่การศึกษาระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยใช้วิธีการเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เอกสาร ข้อค้นพบจากการวิจัยนี้คือ ตัวชี้วัดความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จำแนกออกได้เป็น 2 มิติคือ มิติกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และมิติของคุณภาพของความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอิทธิพล พบว่า ตัวชี้วัดภายในมิติกระบวนการสามารถอธิบายความผันแปรเชิงบวกในมิติคุณภาพได้มากถึงร้อยละ 94.9 และมีค่าผลกระทบของเส้นทางอิทธิพลขนาดใหญ่ (f2 = 1.471) เมื่อพิจารณาในบริบทของประเทศไทยภายใต้กรอบตัวชี้วัดทั้ง 2 มิติ พบว่า การขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของไทยใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากซึ่งส่งผลให้คุณภาพของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างล้าช้า การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอุดมไปด้วยนโยบาย การส่งเสริมและสนับสนุนเฉพาะจุด เช่น การพัฒนาบุคลากร การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ยังไม่ปรากฏการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในมิติอื่นๆ ที่ครอบคลุมและต่อเนื่องทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยนี้คือ ภาครัฐควรดำเนินการยกระดับความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการมุ่งเน้นกลไกในการขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย หนึ่ง นโยบายการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สอง โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาม การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สี่ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การของภาครัฐ ห้า ประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยทั่วไปของภาครัฐ และหก ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาเหล่านี้จะช่วยให้การยกระดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้อย่าง ก้าวกระโดด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-05-15