ระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงตามลำน้ำโขงไทย-ลาว กรณีศึกษา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร-สะหวัน-เซโน และนครพนม-ท่าแขก

Main Article Content

ประจวบ จันทร์หมื่น

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาระบบโลจิสติกส์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงไทย-ลาว ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร-สะหวัน-เซโน และนครพนม-ท่าแขก โดยใช้แนวคิดระบบโลจิสติกส์การท่องเที่ยวที่มองว่าโลจิสติกส์การท่องเที่ยว คือ กระบวนการสำคัญที่จะเชื่อมประสานกิจกรรมต่าง ๆ ในเส้นทางท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวลื่นไหลจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงสิ้นสุดการเดินทาง จนได้รับความพึงพอใจสูงสุดจากนักท่องเที่ยว การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิทยาทั้งเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเชิงปริมาณ (Quantitative Research) วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการโดยใช้กระบวนการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นบุคคลสำคัญ ส่วนวิธีวิทยาเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลเชิงสถิติ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาอีกครั้งเพื่อเขียนรายงานการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 ความพร้อมของระบบโลจิสติกส์การท่องเที่ยวบางระบบในจังหวัดนครพนม-มุกดาหารไม่สอดคล้องกันแขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนะเขต ประการที่ 2 ในการประเมินระบบโลจิสติกส์ในจังหวัดนครพนมและมุกดาหารจำนวน 14 ตัวชี้วัด พบว่า มีตัวชี้วัดที่ทั้งสองจังหวัดขาดความพร้อม คือ 1) การบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว 2) การบริการจุดพยาบาล/หน่วยแพทย์ 3) การใช้พลังงานทางเลือกในแหล่งท่องเที่ยว 4) จุดต้อนรับนักท่องเที่ยวและจุดพักสำหรับนักท่องเที่ยว สาเหตุประการสำคัญของความไม่พร้อม คือ ยังไม่มีการกำหนดนโยบายระดับจังหวัดให้มีแผนพัฒนาระบบโลจีสติกส์การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว ประการที่ 3 จากความไม่พร้อมในบางประการของระบบโลจีสติกส์การท่องเที่ยว ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไทย-ลาว ยังคงไม่สามารถพัฒนาความร่วมมือได้อย่างเต็มศักยภาพและจะมีผลให้นโยบายการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวจะเป็นไปอย่างล่าช้า ประการที่ 4 เมื่อนำผลการศึกษามาวิเคราะห์ลักษณะเมืองนครพนมและมุกดาหาร พบว่า มีลักษณะแตกต่างกัน คือ นครพนมเป็นเมืองการท่องเที่ยวนำการค้า ส่วนมุกดาหารเป็นเมืองการค้านำการท่องเที่ยว ทั้งสองเมืองจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับลักษณะของเมือง


ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ เสนอให้จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร มีแผนพัฒนาระบบโลจีสติกส์การท่องเที่ยวให้ครบทั้ง 14 ตัวชี้วัด และเสนอให้มีการกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการดำเนินการในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเพื่อเป็นต้นแบบ 2 แห่ง คือ 1) พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 2) อุทยานสมเด็จย่า อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และเสนอให้ทั้งสองจังหวัดกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง คือ ตัวเมืองนครพนมเป็นเมือง
การท่องเที่ยวนำการค้า ส่วน ตัวเมืองมุกดาหารเป็นเมืองการค้านำการท่องเที่ยว

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

- กองความร่วมมือการค้าและการลงทุนกรมการค้าต่างประเทศ. (2561). มูลค่าการค้าชายแดน. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 20, 2561, จาก https://www.dft.go.th-th/index
- คมสัน สุริยะ. (2551). กรอบแนวคิดโลจิสติกส์การท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2561, จาก https://www.tourismlogistics.com
- เณศรา สุขพานิช. (2560). การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน สปป. ลาว. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
- ประจวบ จันทร์หมื่น. (2558). เส้นทางการท่องเที่ยวและแผนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน ลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว พื้นที่จังหวัดนครพนมถึงอุบลราชธานีและแขวงคำม่วนถึงแขวงจำปาสัก. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
- ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์. (2552). กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์เรื่องโลจีสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2561, จาก https://www.tourismlogistics.com
- สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ และคณะ. (2558). การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).