การอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในองค์กรพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางภาษา: กรณีศึกษา MAP Foundation
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้ใช้กระบวนการวิจัยจากการสังเกตการณ์ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับองค์กรแห่งหนึ่ง ในระยะเวลา 4 เดือน มาตีความเชิงวิชาการและทฤษฎีเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบในประเด็นที่ว่าด้วยการทำงานร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยหลีกเลี่ยงการกลืนกินอัตลักษณ์ของกันและกัน ซึ่งเน้นจุดสำคัญในเรื่องของ ภาษา อันได้รับแรงกระตุ้นมาจากกรอบมโนทัศน์ทางปรัชญาเรื่อง “การเมืองว่าด้วยเรื่องคู่ปรับ-คู่แข่ง” (Agonistic Politics) ของ Chantal Mouffe บวกกับการออกแบบงานวิจัยที่เป็นงานวิจัยลูกผสมระหว่างสายมานุษยวิทยาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้แนวคิดของ Mouffe มีส่วนช่วยในการตีความปรากฏการณ์ที่ศึกษานี้ได้อย่างเป็นระบบและมีพัฒนาการยิ่งขึ้น ผลการศึกษาพบว่า องค์กรแห่งนี้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กร คือการไม่ได้ประกาศใช้ภาษาราชการในองค์กรอย่างเป็นทางการทำให้สมาชิกภายในองค์กรสามารถใช้ภาษาถิ่นของตนเองในการสื่อสารกับสมาชิกอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ สะท้อนลักษณะการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางภาษานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยวิธีการ “อยู่ร่วมกันแบบคู่ปรับ-คู่แข่ง” โดยไม่จำเป็นต้องกลืนกันและกันให้อัตลักษณ์ของใครต้องละลายหายไป ข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้มีช่องว่างประการหนึ่งคือ องค์กรที่ศึกษาเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีระบบการจัดการไม่ใหญ่โตทำให้อาจเป็นข้อจำกัดหากมีการนำไปศึกษาองค์กรที่มีระดับโครงสร้างขนาดใหญ่