นโยบายของรัฐกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนอกจากจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญสำหรับทุกประเทศแล้ว ยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้น ๆ อีกด้วย แต่สำหรับประเทศไทยพื้นที่ป่าธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากลับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในป่าก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากปัจจัยหลายอย่างเช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา ปัจจัยทางวิชาการและปัจจัยทางการเมือง ซึ่งในเอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์จะศึกษาถึงนโยบายการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นปัจจัยทางการเมืองอย่างหนึ่งว่ามีผลต่อการดำเนินงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์อย่างไร รวมทั้งศึกษานโยบายและมาตรการของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเพื่อนำมาเปรียบเทียบและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายต่อไป
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ออกแบบแบบสอบถามจำนวน 5 ชุดเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในระดับผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ นักวิชาการ ผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชน และผู้รักษากฎหมาย ผู้วิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ นักวิชาการและ NGOs เห็นว่านโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดมีความแตกต่างกันไม่มากนัก และไม่มีผลกระทบอย่างสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ในขณะที่ผู้บริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้รักษากฎหมายเห็นว่านโยบายของรัฐบาลมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความสำเร็จในการอนุรักษ์ นอกเหนือจากนโยบายของรัฐบาลแล้ว บทบาทของนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าหรือลักลอบล่าสัตว์มักมีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เด็ดขาดเท่าที่ควรเพราะเกรงกลัวอิทธิพลของนักการเมือง ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีความเห็นสอดคล้องกันว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายังขาดความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ อาวุธ งบประมาณ และองค์ความรู้ จนอาจทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุผลเท่าที่ควร
สำหรับแนวทางการแก้ไขคือการให้ความรู้แก่ชุมชนในทุกระดับเพื่อให้เห็นความสำคัญของสัตว์ป่าและช่วยกันอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับตัว ปรับองค์กรให้มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร เครื่องมือ งบประมาณ และที่สำคัญคือองค์ความรู้เพื่อให้การดำเนินงานอนุรักษ์ดำเนินไปถูกทิศทาง