สภาพการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาวิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ โดยการเปรียบเทียบความพึงพอใจและความคาดหวังต่อการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิแบบไม่เป็นสัดส่วน กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตและมหาบัณฑิต/ ดุษฎีบัณฑิต จำนวน 200 คน และผู้ใช้มหาบัณฑิต/ ดุษฎีบัณฑิต จำนวน 50 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย กรณีที่กลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน (Dependent Sample t-test) ผลการศึกษา พบว่า 1) นิสิตและมหาบัณฑิต/ ดุษฎีบัณฑิต มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาด้านปัจจัยนำเข้าและด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมากทุกด้าน ส่วนผู้ใช้มหาบัณฑิต/ ดุษฎีบัณฑิต มีความพึงพอใจด้านผลลัพธ์ทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด 2) นิสิตและบัณฑิตมีความคาดหวังต่อการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาด้านปัจจัยนำเข้าและด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมากที่สุด และผู้ใช้มหาบัณฑิต/ ดุษฎีบัณฑิต มีความคาดหวังด้านผลลัพธ์ทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด 3) ผลการเปรียบเทียบสภาพปัจจุบันและความคาดหวังทั้งด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05