ประสบการณ์และแนวทางการเผชิญปัญหาของเด็กและเยาวชนไทย ที่ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์

Authors

  • สุวิพร ไฉไลสถาพร แขนงจิตวิทยาการให้คำปรึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาประยุกต์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • อัจศรา ประเสริฐสิน สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • แววตา เตชาทวีวรรณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Keywords:

การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์, แนวทางการเผชิญปัญหา, เด็กและเยาวชนไทย, เหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์

Abstract

บทคัดย่อ

   การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการให้ความหมายและเงื่อนไขของการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ 2) ทำความเข้าใจกระบวนการเผชิญปัญหาและผลจากการเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้งไซเบอร์ และ 3) ค้นหาแนวทางการเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ของเด็กและเยาวชนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลเป็นเด็กและเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์ในการตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ไม่น้อยกว่า 3 เดือนในขณะที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 4 คน

   จากการศึกษาพบว่าเด็กและเยาวชนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีการให้ความหมายการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์โดยคำนึงถึงผลกระทบที่ตนเองได้รับจากการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เป็นหลัก เด็กและเยาวชนไทยแบ่งการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การโจมตีผู้อื่นด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย 2) การประจานข้อความหรือรูปภาพส่วนตัว และ 3) การแอบอ้างสวมรอยเป็นผู้อื่น ปัจจัยสองอย่างที่เด็กและเยาวชนไทยพิจารณาในการให้ความหมายการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ได้แก่ เจตนาและการเกิดซ้ำโดยพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเจตนาของผู้กระทำหรือการเกิดซ้ำ นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลิกภาพและนิสัยของผู้ถูกกลั่นแกล้งกับความสัมพันธ์กับผู้กลั่นแกล้งส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์

   เด็กและเยาวชนไทยสามารถรับรู้และตระหนักถึงการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ได้ทันทีหลังจากเกิดการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อทั้งจิตใจและพฤติกรรม วิธีการเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ของเด็กและเยาวชนไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก ได้แก่ 1) การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหา และ 2) การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการอารมณ์

   แนวทางในการรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ของเด็กและเยาวชนไทยแบ่งออกเป็น 5 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) การเผชิญหน้า 2) การจัดการทางด้านเทคนิค 3) การหลีกเลี่ยง 4) การเบี่ยงเบนความสนใจ 5) การแสวงหาแรงสนับสนุนทางสังคม โดยพบว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในการเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ของเด็กและเยาวชนไทย

Downloads

Published

2018-03-16