การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
Keywords:
รูปแบบการจัดการเรียนรู้, ความภาคภูมิใจในตนเอง, instructional model, self-esteemAbstract
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง และเพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ด้วยวิธีวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนเดื่อวิทยาคาร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 26 คน ที่ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) ใช้เวลาในการทดลอง 16 ชั่วโมง วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะที่มีขั้นตอนต่อเนื่องกัน ดังนี้ ระยะที่ 1 ระยะสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลแนวคิดทฤษฎีจากเอกสารและงานวิจัย 2) การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ระยะประเมินประสิทธิผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1) การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ และ 2) การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผลของรูปแบบ โดยในขั้นตอนของรูปแบบมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นจัดสภาพการเรียนรู้ 2) ขั้นเรียนด้วยตัวเอง 3) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนกับเพื่อน 4) ขั้นเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเชิงบวก 5) ขั้นประเมินผลเชิงบวก รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม อยู่ในระดับดี ( =4.38 , S.D.=0.69) นักเรียนมีค่าเฉลี่ยความภาคภูมิใจในตนเองสูงขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .01