การเผยแพร่แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อมวลชนกับความเข้าใจและการยอมรับต่อแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในจังหวัดเชียงราย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การเผยแพร่เนื้อหาของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสื่อมวลชนไทย ซึ่งประกอบด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และเพื่อศึกษาระดับความเข้าใจ การยอมรับและการนำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดเชียงราย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณร่วมกับเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการสำรวจ การวิเคราะห์เนื้อหา การสัมภาษณ์เจาะลึก และการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
- การเผยแพร่เนื้อหาของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสื่อมวลชนไทย ผลการศึกษาพบว่า
1.1 สื่อหนังสือพิมพ์ นำเสนอเนื้อหาเศรษฐกิจพอเพียงในประเด็นที่เป็นเรื่องของกิจกรรมมากที่สุด โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นการจัดทำโครงการต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นการเทิดพระเกียรติ การให้คำอธิบายหรือนิยามเศรษฐกิจพอเพียงยังคงเป็นเพียงการนำเสนอเพียงระดับ เป็นนามธรรม ผู้อ่านยังต้องคิดและตีความด้วยตนเองเกี่ยวกับความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงในการนำไปประยุกต์ใช้
1.2 สื่อวิทยุกระจายเสียง ส่วนใหญ่มีการนำเสนอในรูปแบบรายการบรรยายหรือสนทนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขยายความนิยามของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามมุมมองของกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น เกษตรกร นักธุรกิจ ข้าราชการ ฯลฯ ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นำเสนอในรูปแบบของข่าวที่เน้นการรายงานข่าวกิจกรรมที่ดำเนินโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ นอกจากนั้นยังเสนอในรูปแบบรายการสนทนาที่มีการนำบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์ในแวดวงต่างๆ หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้หลักความพอเพียงในการดำรงชีวิตมาร่วมพูดคุยกับผู้จัดรายการ เป็นการแบ่งปันความรู้ในการปฏิบัติตนให้ประสบผลสำเร็จเพื่อให้ผู้ฟังเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยเสริมความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นความสนใจให้เกิดแก่ผู้รับสารได้
1.3 สื่อโทรทัศน์ พบว่า นำเสนอรายการประเภทสารคดีที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรต่างๆ มากที่สุด โดยองค์กรในชุมชนที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญคือ สถานศึกษา เนื้อหาของรายการแต่ละครั้งจะมุ่งเน้นการยกตัวอย่างการร่วมมือร่วมใจขององค์กรต่างๆ กับภาคประชาชนของแต่ละชุมชนที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ของตนและประสบความสำเร็จ โดยปัญหาจะมีความครอบคลุมทุกแง่มุม อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของคนในชุมชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาวัฒนธรรม ฯลฯ โดยรายการส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 5 – 8 นาที
รูปแบบการนำเสนอส่วนใหญ่เป็นสารคดีเนื่องจากมีประโยชน์ในการช่วยขยายความเข้าใจของผู้รับสาร โดยสามารถใช้ภาพเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง ช่วยในการตีความเนื้อหาหรือขยายแนวคิดให้ครอบคลุมทุกแง่มุมของสังคม การใช้ภาษาที่ง่ายในการเล่าเรื่อง การลำดับเรื่องตามเวลาอย่างเป็นขั้นตอน การขยายความเนื้อหาหรือภาษาทางวิชาการ ศัพท์เฉพาะที่เข้าใจยาก ฯลฯ
2. ระดับความเข้าใจของประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่มีต่อแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในภาพรวมอยู่ในระดับที่มีความรู้ความเข้าใจมาก โดยเฉพาะในด้านหลักความพอดี พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตนเอง การพึ่งตนเองในชีวิตประจำวัน แบ่งปันกันในครอบครัว และกับเพื่อนบ้าน รู้จักเก็บออม ฯลฯ
3. ระดับการยอมรับและการนำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับการยอมรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะในด้านความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบอาชีพและการเสริมสร้างให้คนไทยมีพื้นฐานทางจิตใจที่มีคุณธรรม ส่วนในด้านการนำไปใช้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะในด้านการประกอบธุรกิจ การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ปรับปรุงสินค้าและคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ การไม่คำนึงกำไรของตนเองเพียงฝ่ายเดียว และการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อทบทวนการใช้จ่ายและออมเงิน
Article Details
ทัศนะและข้อคิดเห็นของบทความที่ปรากฏในวารสารฉบับนี้เป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน ไม่ถือว่าเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ
References
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา. (2548). การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง. วารสารเศรษฐกิจและสังคมสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ปีที่ 42 ฉบับที่ 6.
ปาณิสรา วัฒนรัตน์. (2550). การเปิดรับชม ความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการปฏิบัติตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจากรายการโทรทัศน์ . วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต บัณทิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุเมธ ตันติเวชกุล. (2542). การดำเนินชีวิตในระบบเศรษฐกิจพอเพียง “ แบบพอเพียง” ตามแนวทางพระราชดำริ. กรุงเทพมหานคร . วารสารน้ำ การประปา-ส่วนภูมิภาค. ธันวาคม2541 – มกราคม 2542.
อภิชัย พันธเสน และคณะ. (2546). การประยุกต์พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
อรวรรรณ ปิลันธน์โอวาท. (2546). การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Bloom, Benjamin., Thomas, J., and Madus, G. (1971). Handbook on Formative and Sumative Evaluation of Student Learning. New York : MacGraw-Hill Book Company.
Rogers, Everett. M. (1995). Diffusion of Innovations. 4th ed. New York, NY: The Free Press.
Schramm, Wilbur. (1964). Mass media and National Development : the Role of Information in the Developing Countries. California : Stanford University Press.
Zimbardo, P. G., and Leippe, M. (1991). The Psychology of Attitude Change and Social Influence. 3rd ed. New York: McGraw-Hill.