การศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการลงทุนโรงงานผลิตน้ำยางข้นในอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อ (1)สำรวจสภาพทั่วไปของตลาดน้ำยางข้น ของจังหวัดบึงกาฬ (2) ศึกษาทางเลือกทางด้านเทคนิคในโครงการลงทุน โรงงานผลิตน้ำยางข้นในเขตพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ (3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน และ (4) ทดสอบความสามารถในการรับการเปลี่ยนแปลงของโครงการลงทุนโรงงานผลิตน้ำยางข้นในเขตพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ การศึกษาใช้ข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์เชิงลึก และข้อมูลทุติยภูมิที่ได้จากการรวบรวมจากหนังสือ งานวิจัย เอกสารทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาใช้วิเคราะห์เชิงพรรณนาและเชิงปริมาณ เครื่องมือทางการเงินที่ใช้ได้แก่ ต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก, มูลค่าปัจจุบันสุทธิ, ดัชนีกำไร, อัตราผลตอบแทนภายในโครงการ อัตราผลตอบแทนภายในที่มีการปรับค่าแล้ว และการทดสอบค่าความแปรเปลี่ยน
ผลการศึกษาพบว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตน้ำยางข้น 111 โรงงาน ผลิตได้ประมาณ 700,000 ตันต่อปี ภาคตะวันออกผลิตได้เพียง 104,000 ตันต่อปีในขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำยางข้นถึง 200,000 ตันต่อปี จึงต้องพึ่งน้ำยางข้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งผลิตได้ 72,250 ตันต่อปี จึงเห็นโอกาสในการลงทุน โดยจังหวัดบึงกาฬ ยังไม่มีโรงงานผลิตน้ำยางข้นแต่มีปริมาณน้ำยางสดในปี 2557 สูงถึง 131,210 ตัน สามารถนำไปผลิตน้ำยางข้นได้ถึง 50,000 ตัน โรงงานที่จะลงทุนมีกำลังการผลิต 15,000 ตันต่อปี ใช้พื้นที่ 10 ไร่และใช้เทคโนโลยีตามรูปแบบโรงงานผลิตน้ำยางข้นส่วนใหญ่นิยมใช้ คือ วิธีปั่นแยก เครื่องปั่นน้ำยางข้น การปั่นจะช่วยเพิ่มแรงดึงดูด และเร่งการเคลื่อนที่ของอนุภาคยาง โดยการปั่นแยกน้ำยางสดจะได้น้ำยางสด 2 ส่วน คือ น้ำยางข้นและหางน้ำยาง ผลการศึกษาทางด้านการเงิน พบว่าที่อายุโครงการ 10 ปี ในกรณีที่ไม่ขอรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน และขอรับสิทธิประโยชน์ จากการส่งเสริมการลงทุนตามลำดับ จะได้อัตราคิดลดที่ 11.56 และ 11.31 โครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนเพราะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 7,194,644 บาท และ 21,355,344 บาท ดัชนีกำไร (PI) เท่ากับ 1.07 และ 1.22 อัตราผลตอบ แทนภายในโครงการ(IRR) เท่ากับร้อยละ 12.93 และ 15.30 อัตราอัตราผลตอบแทนภายในโครงการที่มีการปรับค่าแล้ว (MIRR) เท่ากับร้อยละ 12.29 และ13.34 การวิเคราะห์โดยการทดสอบค่าความแปรเปลี่ยนพบว่าผลตอบแทนลดลงได้มากที่สุดเท่ากับร้อยละ 2.39 , 7.00 ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นได้มากที่สุดเท่ากับร้อยละ 7.27 , 21.58 ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้นได้มากที่สุดร้อยละ 3.69 , 11.55 และต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นได้มากที่สุดร้อยละ 2.45 และ 7.52 ตามลำดับ แสดงว่าแม้โครงการจะคุ้มทุนทั้ง 2 กรณีแต่ถ้าสามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนจะทำให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
Article Details
ทัศนะและข้อคิดเห็นของบทความที่ปรากฏในวารสารฉบับนี้เป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน ไม่ถือว่าเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ
References
กรมโรงงานอุตสาหกรรม. 2554. หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันมลพิษ. กรุงเทพมหานคร.
กรมโรงงานอุตสาหกรรม. 2557. ทำเนียบโรงงาน. (Online). www.diw.go.th, 18 มีนาคม 2558.
งานพัสดุ สำนักการคลังองค์การสวนยาง. 2553. การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์.
ภารดี ยิ่งมีทรัพย์. 2558. ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการลงทุนโรงงานผลิตน้ำยางข้นในพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภัทรพงศ์ วงศ์สุวัฒน์ 2558. การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราใน จังหวัดบุรีรัมย์. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ประชาชาติธุรกิจ. 2555 . เงินสะพัดบึงกาฬ...หมื่นล้าน ! 4 บิ๊กโรงงานยาง-จีนพาเหรดลงทุน (Online) www.prachachat.net/news, 11 มีนาคม 2558
ประสิทธิ์ ตงยิ่งศิริ. 2542. การวางแผนและการวิเคราะห์โครงการ. กรุงเทพมหานคร: ซีเอ็ด ยูเคชั่น
ปัณณวิชญ์ วงศ์สุวัฒน์. 2558. สัมภาษณ์ . 26 มีนาคม 2558
สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2552. ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง. ทําเนียบโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง.
สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2552. ข้อมูลโรงงานแปรรูปยางดิบ. ทําเนียบโรงงานแปรรูปยางดิบ.
สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2557. ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของไทยแยกตามประเภทยาง. สถิติยางประเทศไทย.
สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2557. ปริมาณการส่งออกยางแยกตามประเภท. สถิติยางประเทศไทย.
สุมาลี อุณหะนันทน์. 2550. การบริหารการเงิน กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ การทำสวนยาง จังหวัดหนองคาย 2554 . พื้นที่สวนยางพารา เขตความรับผิดชอบ. สกย. จังหวัดหนองคาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สํานักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ. 2550. การทําเกษตรกรรมของจังหวัดบึงกาฬ (Online). www.moac.info.net/buengkan, 31 มกราคม 2558.
สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2558. สถานการณ์ยางพาราและการปรับตัวของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2558. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หฤทัย มีนะพันธุ์. 2550. หลักการวิเคราะห์โครงการ : ทฤษฎีและวิธีปฏิบัติเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ. กรุงเทพมหานคร: เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น
องค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2556. เครื่องปั่นน้ำยางข้น (Online) https://www.thaieasterngroup.com/pro_ter.php , 15 มีนาคม 2558