จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ

               วารสารบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวารสารวิชาการ ที่เปิดรับผลงานวิชาการ จากนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในประเภทบทความวิจัย และบทความวิชาการ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมหัวข้อทางด้านการบริหารและการจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การบัญชี การเงินและการธนาคาร การตลาด การจัดการและการจัดการเชิงกลยุทธ์ พฤติกรรมองค์กรและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจระหว่างประเทศ การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อดังกล่าว  ดังนั้น วารสารวิชาการบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้กำหนดบทบาท หน้าที่และจริยธรรมการตีพิมผลงานวิชาการของผู้เขียน (Author)  ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และบรรณาธิการ (Editor) ไว้ดังนี้

 

ผู้เขียน (Author)

1.  ผลงานที่ส่งพิจารณาตีพิมพ์ต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์หรือกำลังเสนอตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการอื่น โดยผู้เขียนต้องให้การรับรองในประเด็นดังกล่าว

2.  ผลงานที่ส่งพิจารณาจะต้องไม่มีส่วนใดที่เป็นการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ (Plagiarism) ของตนเองและผู้อื่น และผลงานไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรใดๆ โดยผู้เขียนต้องให้การรับรองในประเด็นดังกล่าว

3.  ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นอย่างถูกต้องและครบถ้วน หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตนเอง

4.  ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการวิจัย ไม่ปลอมแปลง บิดเบือน หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ

5.  ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้ใน "คำแนะนำและการจัดเตรียมต้นฉบับ"

6.  ผู้เขียนที่ปรากฏชื่อในบทความต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยในเชิงปฏิบัติ และไม่ตัดชื่อบุคคลที่มีส่วนในการทำวิจัยคนใดคนหนึ่งออกจากบทความ

7.  ผู้เขียนต้องยินยอมโอนลิขสิทธิ์ให้แก่วารสารก่อนการตีพิมพ์และไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับวารสารอื่นๆ ภายหลังจากที่ได้รับการตีพิมพ์กับวารสารบริหารศาสตร์แล้ว

8.  ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยและระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

9.  หากผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในคน หรือสัตว์ หรือผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร ผู้เขียนควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ดำเนินการตามหลักจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องได้รับความยินยอมก่อนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกครั้ง  หากผลงานหรือการศึกษานั้นอาจกระทบต่อสิทธิ ศักดิ์ศรี ความรู้สึก หรือความปลอดภัยของผู้ถูกศึกษา ผู้เขียนต้องพิจารณาแนบหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง เพื่อประกอบการพิจารณาตีพิมพ์ต่อวารสาร

 

ผู้ประเมินบทความ (Reviewer)

1.  ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่พิจารณาแก่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในระยะเวลาของการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ และจนกว่าบทความได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

2.  ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาคุณภาพของบทความ ได้แก่ ความสำคัญของเนื้อหา วิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้มข้นทางวิชาการ การพิจารณาบทความจะต้องทำภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ ด้วยความซื่อตรง ปราศจากอคติ ความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง

3.  ผู้ประเมินบทความต้องไม่เสนอแนะให้ผู้เขียนอ้างอิงผลงานใดด้วยเจตนาเพิ่มจำนวนการอ้างอิงของผลงานของตนหรือพวกพ้อง รวมทั้งไม่แสดงหาประโยชน์อื่นๆ จากผลงานที่ตนเองได้ทำการประเมิน

4.  ผู้ประเมินบทความควรตระหนักว่า หากตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น

5.  ผู้ประเมินบทความพึงชี้ให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อน รวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อการปรับปรุงแก้ไขบทความนั้น

6.  ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบหากพบว่า ผู้เขียนบทความกระทำผิดจรรยาบรรณ เช่น ส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความมีการลอกเลียนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น บิดเบือนผลการวิจัยหรือใช้ผลการวิจัยเท็จ

7.  ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาที่กำหนด

 

บรรณาธิการ (Editor)

1.  บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความเพื่อเข้ารับการตีพิมพ์กับวารสาร โดยบรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์

2.  บรรณาธิการต้องดำเนินการให้มีกระบวนการประเมินคุณภาพบทความที่ปราศจากอคติ เป็นธรรมและไม่ล่าช้า โดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้น ๆ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินและกระบวนการก่อนการตีพิมพ์ โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารเป็นสำคัญ

3.  บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในระยะเวลาของการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ และจนกว่าบทความได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

4.  บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และกองบรรณาธิการ นอกจากนั้น ไม่รับตีพิมพ์บทความเพียงเพื่อผลประโยชน์ของผู้เขียนหรือวารสาร โดยไม่พิจารณาผลจากการประเมินคุณภาพของบทความจากผู้ประเมิน

5.  บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนในการตัดสินใจคัดเลือกบทความที่ตนเป็นผู้นิพนธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง

6.  บรรณาธิการต้องตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่นในบทความ ด้วยโปรแกรมที่มีมาตรฐานและเป็นทียอมรับในวงการวิชาการ รวมทั้งมีการตรวจสอบการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน

7.  บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และติดต่อผู้เขียนหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจงในการประกอบการตัดสินใจ ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้นและมีระบบแก้ไขข้อผิดพลาดร้ายแรงในบทความและถอดบทความที่พบว่าผิดจริยธรรมการวิจัย และไม่ละเลยเพิกเฉยเมื่อพบข้อผิดพลาดและการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร

8.  บรรณาธิการต้องไม่ร้องขอให้มีการอ้างอิงผลงานใดเพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิง (Citation) หรือค่า Impact Factor ของวารสารหรือเพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิงของผลงานของตนหรือพวกพ้อง

9.  บรรณาธิการต้องประกาศวิธีปฏิบัติในการจัดเตรียมต้นฉบับและรายละเอียดที่จำเป็นอื่นๆ ที่ผู้เขียนต้องปฏิบัติตามให้ผู้สนใจส่งบทความตีพิมพ์และสาธารณชนทั่วไปรับทราบและบรรณาธิการจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ของวารสาร