พฤติกรรมการรักษาศีล 5 ของนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย
คำสำคัญ:
พฤติกรรม, การรักษาศีล 5, นักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ, มหาวิทยาลัมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัยบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องในเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรักษาศีล 5 และปัจจัยความแตกต่างที่มีต่อพฤติกรรมการรักษาศีล 5 แต่ละข้อ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยสนับสนุนที่มีต่อการรักษา ศีล 5 3) เพื่อทราบปัญหาและข้อเสนอแนะในการรักษาศีล 5 ของนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขต สิรินธรราชวิทยาลัย พ.ศ. 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาทั้งหมด 101 คน เพศชาย มีร้อยละ 42.6 และเพศหญิง มีร้อยละ 57.4 อายุระหว่าง 21-35 ปี มีร้อยละ 56.4 ระหว่าง 36 - 50 ปี มีร้อยละ 22.8 ต่ำกว่า 20 ปีและตั้งแต่ 51 ปี ขึ้นไป มีร้อยละ 10.9 และ9.9 นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มีร้อยละ 31.7รองลงมาชั้นปีที่ 1 มีร้อยละ 28.7 และชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 มีร้อยละ 21.8 และ 17.8
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่หาได้ ด้วยวิธีการของ ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) จำนวน 101 คน แล้วนำมาหาอัตราส่วนของประชากร แยกแต่ละชุมชน และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ใช้สถิติการบรรยาย คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และสถิติอนุมานหรืออ้างอิง ได้แก่ การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA) ถ้าพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffé) แล้วนำมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์
ผลการวิจัยพบว่า
1) นักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ มีพฤติกรรมการรักษาศีล 5 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางมีค่าเฉลี่ย 2.50 และจำแนกในแต่ละด้าน มีดังต่อไปนี้ 1) ด้านความเกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัว อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย 3.00 2) ด้านความสนใจในพระพุทธศาสนา อยู่ในระดับปานกลางมีค่าเฉลี่ย 3.00 และ 3) ด้านการศึกษาหลักธรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย 3.00 เช่นเดียวกัน
2) ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า นักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ ที่มีเพศ อายุ แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรักษาศีล 5 ไม่แตกต่างกัน ส่วนนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรักษาศีล 5 ข้อที่ 1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ และข้อที่ 2 เว้นจากการลักทรัพย์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น จึงแสดงว่านักศึกษายังมีการปฏิบัติตามหลักการของพุทธศาสนา นั่นก็คือ การรักษาศีล 5 นั้นเอง
3) นักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขดังนี้ ควรส่งเสริมให้นักศึกษามีการปฏิบัติธรรมและรักษาศีลมากขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา คณะสงฆ์ วัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนโยบายส่งเสริมให้มีการปฏิบัติธรรมและรักษาศีลกันมากขึ้น อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะการรักษาศีล 5 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง และอบายมุขให้ลดน้อยลง