รูปแบบการถวายผ้าบังสุกุลจากสมัยพุทธกาลสู่ยุคปัจจุบัน
บทคัดย่อ
ผ้าบังสุกุลเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งแล้วตามป่าช้า กองขยะ และตามถนนหนทาง เป็นผ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุลมาได้แล้ว จะนำมาซัก เย็บ ย้อม และทำเป็นผ้านุ่งและผ้าห่มกันเอง เพื่อความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานไว้ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับคหบดีจีวร คือ จีวรของชาวบ้านได้ ทำให้พระภิกษุได้รับความสะดวกมากขึ้น ทั้งยังเป็นการอนุเคราะห์พวกชาวบ้านให้ได้รับผลบุญกุศลจากการถวายผ้าบังสุกุลให้แก่เหล่าภิกษุอีกด้วย
ในสมัยปัจจุบัน ผ้าบังสุกุลมิได้เป็นผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งแล้วอย่างในสมัยพุทธกาล แต่เป็นผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายภิกษุในงานต่างๆ เช่น งานศพ งานทอดผ้าป่าหรืองานกฐิน ผ้าที่นำมาถวายส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทำสำเร็จรูปมาจากร้านค้าแล้ว รูปแบบการถวายผ้าบังสุกุลในสมัยปัจจุบันก็ยังคงรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาลอยู่ กล่าวคือ ในปัจจุบันผ้าบังสุกุลในงานศพก็เปรียบเหมือนกับผ้าที่ภิกษุแสวงหาตามป่าช้า และผ้าบังสุกุลที่ทอดในงานผ้าป่าหรืองานกฐินก็เปรียบเหมือนกับผ้าที่ภิกษุแสวงหาตามกิ่งไม้หรือตามถนนหนทาง นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการถวายผ้าบังสุกุลให้กับพระภิกษุผู้ปฏิบัติธุดงควัตรตามแบบอย่างบุรพาจารย์เพื่อขจัดขัดเกลากิเลสของตนเองอีกด้วย