เว็บบล็อกการเมืองไทยกับการสื่อสารทางการเมือง
คำสำคัญ:
เว็บบล็อก, เว็บบล็อกทางการเมือง, เว็บบล็อกทางการเมืองไทย, การสื่อสารทางการเมืองบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาของเว็บบล็อกทางการเมืองไทย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ.2554-2557 เพื่อศึกษาบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ทางการเมือง ผลการศึกษาพบว่า ผู้เขียนเว็บบล็อกการเมืองไทยที่มีโพสต์มากที่สุด คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เขียนเว็บบล็อก (เว็บบล็อกเกอร์) ส่วนใหญ่ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญสาขาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ผู้เขียนเว็บบล็อกการเมืองไทยร้อยละ 53.08 ไม่ระบุข้อมูลสำหรับการติดต่อไว้ในเว็บบล็อก หัวเรื่องภาษาไทยในเว็บบล็อกอันดับแรก ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมือง (Political violence) โพสต์ส่วนใหญ่ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ และไม่มีผู้แสดงความคิดเห็น หากมีการแสดงความคิดเห็นจะเป็นความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนโดยไม่มีการระบุตัวตน (Anonymous) และโพสต์ส่วนใหญ่เป็นการรีโพสต์จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ โดยแหล่งข้อมูลที่มีการรีโพสต์มากที่สุดคือ มติชนออนไลน์ (www.matichon.co.th) ผู้เขียนโพสต์มีวัตถุประสงค์ในการเขียนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และเพื่อให้ข้อมูลทางการเมือง เว็บบล็อกการเมืองไทยมีบทบาทในการสื่อสารทางการเมือง 3 บทบาทหลัก ได้แก่ การเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวสารทางการเมืองไทย การเป็นแหล่งวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการเป็นแหล่งแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองไทย