บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์

1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งเพื่อตีพิมพ์ในมนุษยสังคมสารเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

2. ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่นำมาใช้ในงานของตัวเองเสมอ

3. ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบจนมั่นใจว่ารายละเอียดทุกส่วนในบทความที่จะตีพิมพ์ในวารสารถูกต้องและต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับ

4. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยโดยไม่มีการบิดเบือนข้อมูล

5. ผู้นิพนธ์ต้องยอมรับคำพิชญพิจารณ์ และสามารถชี้แจงได้โดยมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการอย่างครบถ้วน

6. ผู้นิพนธ์ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของต้นฉบับในทุกกรณี

7. บทความที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนต้องมีหลักฐานยืนยันว่าบทความดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองแล้ว

8. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในมนุษยสังคมสาร

 บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

1. บรรณาธิการจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพทางวิชาการของบทความที่ตีพิมพ์ในมนุษยสังคมสาร

2. บรรณาธิการจะตัดสินใจเลือกบทความที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และนโยบายขอวารสารและผ่านกระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่พิชญพิจารณ์บทความแล้วเท่านั้น

3. บรรณาธิการต้องชี้แจง หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (Peer review) ให้กับผู้นิพนธ์ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินบทความ

4. บรรณาธิการต้องตัดสินใจในการยอมรับหรือปฏิเสธบทความเพื่อการตีพิมพ์ด้วยเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ทางวิชาการ

5. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัย แต่จะต้องหาเหตุผลและหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ ให้ได้

6. กรณีที่มีการปรับเปลี่ยนบรรณาธิการ ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ต้องไม่กลับคำตัดสินใจเกี่ยวกับบทความที่บรรณาธิการคนก่อนตอบปฏิเสธไปแล้ว ยกเว้นมีการพิสูจน์ได้อย่างเหมาะสมและชัดเจน

7. บรรณาธิการควรมีช่องทางให้ผู้นิพนธ์อุทธรณ์ได้หากผู้นิพนธ์มีความคิดเห็นแตกต่างจากการตัดสินใจของบรรณาธิการ

8. บรรณาธิการต้องพิจารณาตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น

9. บรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์จากที่อื่นมาแล้ว

10. หากบรรณาธิการตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์ให้ชี้แจงทันที เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการ ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความ

11. บรรณาธิการต้องกำหนดให้ผู้นิพนธ์ที่ส่งบทความมาตีพิมพ์เผยแพร่ในมนุษยสังคมสาร จะต้องส่งผลการลอกเลียนผลงาน (Plagiarism) ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ไปยังวารสาร โดยสามารถตรวจการลอกเลียนผลงานได้ทางเว็บไซต์ http://plag.grad.chula.ac.th/ และดัชนีความซ้ำซอนของบทความต้องไม่เกินร้อยละ 10

12. บรรณาธิการต้องตรวจสอบบทความที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง โดยแจ้งให้ผู้นิพนธ์ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าบทความดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองแล้ว

13. บรรณาธิการต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ อีกทั้งปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญา

14. บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำแนวทางการประเมินบทความแก่ผู้ประเมินบทความในทุกประเด็นอย่างชัดเจน

15. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่พิชญพิจารณ์บทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง

16. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิที่พิชญพิจารณ์บทความรวมทั้งของเจ้าหน้าที่วารสาร ผู้นิพนธ์ และกองบรรณาธิการ

17. บรรณาธิการต้องดำเนินการเผยแพร่วารสารให้ได้ตามกำหนดการตีพิมพ์ที่ระบุไว้

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

1. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหา คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงานที่จะประเมิน

2. ผู้ประเมินบทความต้องพิชญพิจารณ์เนื้อหาบทความตามหลักวิชาการ ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และประเมินบทความให้มีคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการ

3. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความและผู้นิพนธ์แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ

5. ผู้ประเมินบทความต้องได้รับระบบที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าบทความที่ส่งเข้ามาทำการประเมิน ได้รับการปกปิดความลับในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาประเมิน ยกเว้นกรณีที่มีการประเมินบทความแบบเปิด ซึ่งได้แจ้งให้ผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความรับทราบล่วงหน้า

6. หากผู้ประเมินบทความทราบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย

7. ถ้าผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตัวเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ก็ควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

8. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกองบรรณาธิการวารสาร