Publication Ethics

จริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย/บทความวิชาการ (Publication Ethics)
ในวารสารวิชาการคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
RMUTT GLOBAL BUSINESS AND ECONOMICS REVIEW

Download PDF

เพื่อให้วารสาร RMUTT GLOBAL BUSINESS AND ECONOMICS REVIEW มีคุณภาพตามมาตรฐานทางวิชาการและเป็นไปตามข้อกำหนดทางจริยธรรม กองบรรณาธิการจึงได้กำหนดบทบาทและหน้าที่สำหรับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยหรือบทความวิชาการออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) บรรณาธิการวารสาร (Editor) 2) ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Reviewer) และ 3) ผู้นิพนธ์ (Author)

ในที่นี้ทางกองบรรณาธิการจึงกำหนดแนวทางเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้ทำความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในเชิงจริยธรรมและการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมในทางวิชาการ และเพื่อให้บทความที่เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งในแง่คุณภาพทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และข้อสรุปที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางจริยธรรม

มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นิพนธ์ (หรือคณะผู้นิพนธ์)

  1. ผู้นิพนธ์จะต้องทราบและให้การรับรองว่า บทความที่ส่งมาขอรับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร RMUTT GLOBAL BUSINESS AND ECONOMICS REVIEW นั้น จะต้องไม่เคยเผยแพร่ในวารสาร (หรือช่องทางการเผยแพร่ใดๆ) มาก่อน รวมถึงต้องไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาจากวารสารอื่น
  2. ผู้นิพนธ์จะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขบทความของตนให้มีรูปแบบตามที่วารสารกำหนด โดยสามารถตรวจสอบได้ในหัวข้อ “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” และต้องทำการจัดเตรียมต้นฉบับในรูปแบบที่กำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้ได้บทความตามรูปแบบการตีพิมพ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของวารสาร
  3. ผู้นิพนธ์จะต้องตระหนักถึงจริยธรรมในการวิจัยและจรรยาบรรณของนักวิจัยโดยเคร่งครัด โดยจะต้องไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมของผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมานำเสนอในบทความในลักษณะเป็นผลงานของตนเอง ตลอดจนการคัดลอกหรือทำซ้ำผลงานตนเอง โดยวารสารได้กำหนดการป้องกันด้วยโปรแกรม CopyCat ในระบบของ Thaijo โดยกำหนดค่าไว้ไม่เกินร้อยละ 25 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
  4. ผู้นิพนธ์จะต้องระบุที่มาของวรรณกรรม ตาราง ภาพประกอบ หรือแผนภูมิ ที่มีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยจะต้องระบุถึงแหล่งที่มา เพื่อเป็นการให้เกียรติและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้นิพนธ์จะต้องรับผิดชอบในรายการอ้างอิงเนื้อหาในบทความของตน (หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ เกิดขึ้นในอนาคตจะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบต่อกรณีนี้ทั้งสิ้น) และจะดำเนินการถอนบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที
  5. ผู้นิพนธ์ (และคณะผู้นิพนธ์) ที่มีชื่อปรากฎอยู่ในบทความทุกคนจะต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความหรือมีส่วนในการดำเนินการวิจัยเท่านั้น หากในอนาคตทางวารสารตรวจสอบพบว่ามีการปรากฎชื่อของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้นิพนธ์ (และคณะผู้นิพนธ์) จะต้องยอมรับว่าบทความนั้นจะถูกถอนออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที
  6. ผู้นิพนธ์จะต้องตระหนักว่า ในการจัดทำเอกสารอ้างอิงและรายการอ้างอิงทั้งหมดที่ปรากฎในบทความ ทั้งในส่วนเนื้อหาและรายการอ้างอิงท้ายบทความ จะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของรายการ ตรวจสอบความครบถ้วน ตรวจสอบรูปแบบการอ้างอิง และจะต้องไม่นำรายการอ้างอิงใดๆ ที่ผู้นิพนธ์ไม่ได้มีการศึกษาหรือทบทวนมาจริง นำมาอ้างอิงในบทความ
  7. ผู้นิพนธ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Reviewer) โดยเคร่งครัด และเป็นหน้าที่ของผู้นิพนธ์ที่จะต้องรายงานหรือแสดงรายการที่ได้ทำการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ หากมีข้อจำกัดในการแก้ไขตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำ ผู้นิพนธ์จะต้องชี้แจงให้กองบรรณาธิการรับทราบเพื่อพิจารณาความเหมาะสม โดยทั้งนี้ผู้นิพนธ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หากไม่เป็นตามที่กำหนด บทความนั้นจะถูกเลื่อนการเผยแพร่ออกไป หรือ ถูกถอนจากการดำเนินการของทางวารสาร
  8. ผู้นิพนธ์ต้องตระหนักถึงจรรยาบรรณการเป็นนักวิจัยที่ดีในการจัดทำบทความ โดยจะต้องไม่รายงานข้อมูลที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีที่ถูกต้อง ตลอดจนพื้นฐานการยอมรับทางวิชาการ ผู้นิพนธ์จะต้องไม่บิดเบือนเนื้อหา การสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ตลอดจนการตกแต่งเนื้อหา ผลการวิจัย ข้อสรุป ที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมทางวิชาการ

มาตรฐานทางจริยธรรมของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล และควบคุม ให้การดำเนินงานของวารสาร RMUTT GLOBAL BUSINESS AND ECONOMICS REVIEW เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของวารสารที่กำหนดไว้
  2. บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล และควบคุม ให้การดำเนินงานของวารสารมีความถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยายบรรณทางวิชาการของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเป็นไปตามประกาศของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เรื่องการประเมินด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI
  3. บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ ให้แก่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทำการพิจารณาบทความตั้งแต่การรับเข้ามาในระบบจนแล้วเสร็จพร้อมเผยแพร่ ซึ่งวารสารได้กำหนดในลักษณะการพิจารณาบทความแบบปกปิดรายชื่อ (Double blind peer-reviewed)
  4. บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล และป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมของผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมานำเสนอในบทความในลักษณะเป็นผลงานของตนเอง ตลอดจนการคัดลอกหรือทำซ้ำผลงานตนเอง โดยวารสารได้กำหนดการป้องกันด้วยโปรแกรม CopyCat ในระบบของ Thaijo โดยกำหนดค่าไว้ไม่เกินร้อยละ 25 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
  5. บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมกระบวนการพิจารณาคุณภาพของบทความที่เผยแพร่ในวารสาร โดยการคัดเลือกบทความที่จะเผยแพร่ จะต้องเป็นบทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จทุกขั้นตอน และต้องเป็นบทความที่มีความสอดคล้องของกับนโยบายและขอบเขตของวารสาร ซึ่งเป็นบทความที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง และมีความถูกต้องทางวิชาการเป็นสำคัญ
  6. บรรณาธิการจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในทางวิชาการสูงสุด และจะต้องไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือทับซ้อนใดๆ กับผู้นิพนธ์ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และแสดงถึงการดำเนินการของวารสารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ทางวิชาการสูงสุด โดยจะต้องรับประเมินบทความเฉพาะที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น หรือเป็นบทความที่ตรงกับสาขาของตน หรือเป็นบทความที่ตนเองเคยมีงานวิจัยที่มีลักษณะสัมพันธ์เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำอย่างถูกต้องและเหมาะสมทางวิชาการตามหัวข้อของบทความที่รับเป็นผู้พิจารณา
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องตระหนักถึงประโยชน์ในทางวิชาการและต่อส่วนรวมของสังคมวิชาการเป็นสำคัญ และจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับผู้นิพนธ์ ตลอดจนการได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องจากผู้นิพนธ์ (หรือจากผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น) เพื่อให้บทความนั้นผ่านการพิจารณา
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจะต้องตระหนักถึงจริยธรรมทางวิชาการโดยเคร่งครัด ควรให้คำแนะนำในการแก้ไขโดยปราศจากอคติหรือความโน้มเอียงใดๆ ควรให้คำชี้แนะที่ตั้งอยู่บนความถูกต้องทางวิชาการ คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขใดๆ ควรอยู่บนพื้นฐานของการเผยแพร่งานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และต้องรักษาเวลาในการพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าและเสียประโยชน์ต่อผู้นิพนธ์และเสียหายต่อระบบการดำเนินการของวารสาร
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้นิพนธ์และจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ตอบรับเป็นผู้พิจารณาให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการพิจารณาบทความ ถึงแม้ว่าบทความนั้นจะสิ้นสุดกระบวนการการพิจารณาจนได้รับการเผยแพร่แล้วก็ตาม
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจะต้องรับเป็นผู้พิจารณาบทความ โดยยึดหลักความถนัดและความพร้อมของตนเองเพื่อให้คุณภาพในการพิจารณาและประเมินคุณภาพบทความมีความถูกต้องทางวิชาการและมีความน่าเชื่อถือ หากผู้ทรงคุณวุฒิมีข้อจำกัดทางด้านเวลาหรือข้อจำกัดอื่นในการพิจารณาบทความนั้น ๆ จะต้องรีบแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที เพื่อพิจารณาหาผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นมาพิจารณาบทความนั้นแทน
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที เมื่อตรวจพบความไม่ถูกต้องของบทความโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ เช่น การตรวจพบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีการคัดลอก หรือมีความเหมือนกัน หรือมีความซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น โดยผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบพร้อมทั้งแสดงหลักฐานประกอบด้วย

ปรับปรุงจาก

- https://publicationethics.org/

- ประกาศของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เรื่องการประเมินด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI วันที่ 24 มิถุนายน 2562