รูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ในกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

สัณห์จุฑา วิชชาวุธ

บทคัดย่อ

                ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร (2) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร (3) เพื่อศึกษากระบวนการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานครตามหลักธรรมาภิบาล และ (4) เพื่อศึกษาและเสนอรูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานครตามหลักการมีส่วนร่วม โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก มีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ประชาชนผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงและผู้บริหารของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูงเพื่ออยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน แล้วนำมาวิเคราะห์โดยพรรณนาความในลักษณะที่เป็นระบบระเบียบ ผลการวิจัยพบว่า
                1. กรุงเทพมหานครมีโครงสร้างการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงที่ดีและเหมาะสม มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน ยึดปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้สั่งการสูงสุดและทำงานร่วมกับผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจตัดสินใจได้ แต่กระบวนการตัดสินใจยังมีขั้นตอนที่มากเกินไป เนื่องจากการใช้ระบบแบบราชการ ทำให้ตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดอัคคีภัยรุนแรงได้ช้า รวมทั้งอัตราเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอ ขาดคุณวุฒิและประสบการณ์ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลและแก้ปัญหาได้ไม่ครอบคลุมทุกอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครควรให้องค์การเอกชนเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือในด้านการตรวจสอบ
                2. ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีภาวะผู้นำในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงในกรุงเทพมหานครมีการกำหนดเป้าหมาย แผนงาน และวิธีปฏิบัติที่ดี ทั้งในเรื่องของการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุ แต่การตรวจสอบประเมินผลและการลงโทษเมื่อทำผิดกฎหมายยังไม่จริงจังเข้มงวดเท่าที่ควร ทำให้มีเจ้าของอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบอาคารประจำปี ในเรื่องที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายพอสมควร อีกทั้งในกิจกรรมการฝึกซ้อมหนีไฟเพื่อให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้กรณีเกิดอัคคีภัยเช่น การซ้อมหนีไฟก็ยังขาดการควบคุมการซ้อมหนีไฟเป็นไปแบบไม่มีประสิทธิภาพ
                3. กรุงเทพมหานครมีการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้บริหารจึงให้นโยบายที่จริงจังและเข้มงวดมาก การกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายทุกอย่างของทางราชการ ยึดหลักความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
                4. หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของกรุงเทพมหานครยังมีการบริหารจัดการตามหลักการมีส่วนร่วมไม่มากพอ ควรจัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการออกความเห็นและการประเมินผลในแผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่มากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งชื่อเสียงและคุณค่าของภาคประชาชนเอง


* นักศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 10170. ดุษฎีนิพนธ์ภายใต้การดูแลของรองศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ นิยมญาติ
Corresponding author : sunjutha.witchawut@gmail.com

Article Details

How to Cite
วิชชาวุธ ส. (2021). รูปแบบการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ในกรุงเทพมหานคร. วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม, 8(1), 1–13. https://doi.org/10.14456/jmsnpru.2021.1
บท
บทความวิจัย

References

กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย. (2560). กฎหมายด้านโยธาธิการและผังเมือง. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560. จาก http://www.dpt.go.th/law/data/building/.

ทิพวรรณ บุณย์เพิ่ม.(2554). ความปลอดภัยจากอัคคีภัยในอาคารสูง.วารสารการจัดการสมัยใหม่. 9 (2): 1-9.

นพพล เอกคุณากูล. (2553). แนวทางการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัยของอาคารที่อยู่อาศัยรวมสำหรับผู้สูงอายุ. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาสถาปัตยกรรม. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นภัสวรรณ แสงมณี. (2559). การเสริมสร้างสมรรถนะของเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ในการป้องกัน และระงับอัคคีภัย. เพชรบูรณ์ : วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย.

ภาวดี ธุววงศ์ อรรจน์ เศรษฐบุตร และ สฤกกา พงษ์สุวรรณ. (2559). แนวทางการพัฒนาเกณฑ์อาคารที่พักอาศัยเพื่อสุขภาวะในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มนตรี บัวมาก. (2557). ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการอาคารสูงตามกฏหมายควบคุมอาคาร.วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชานิติศาสตร์. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2550). การประเมินนโยบายสาธารณะ. กรุงเทพมหานคร : บพิธการพิมพ์.

วรเดช จันทรศร. (2552). ทฤษฎีการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร : สหายบล็อกและการพิมพ์.

วิรัช วิรัชนิภาวรณ (2550. การบริหารจัดการตามแนวทางคุณธรรมและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพมหานคร : โฟร์เพซ.

วิเชียร วิทยอุดม. (2548). ภาวะผู้นํา Leadership ฉบับก้าวล้ำยุค. กรุงเทพมหานคร : ธีระฟิล์ม และไซเท็กซ.

ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร. ภารกิจของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560. จาก www.bangkok.go.th.

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน. (2560). รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้ กฎหมายการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2560. จากhttp://www.oag.go.th.

สมมาศ เลิศลักษณ์อรรยา. (2559). การจัดการความปลอดภัยด้านอัคคีภัยโดยระบบป้องกันอัคคีภัย ของอาคารสาธารณะประเภทห้างสรรพสินค้า. การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 2 “งานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ณ อาคารเฉลิมพระเกยีรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์. เพชรบูรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์.

อาคม วัดไธสง. (2547).หน้าที่ผู้นําในการบริหารการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 2). สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ.

อัมพวัน ประเสริฐภักดิ์. (2549). มนุษยสัมพันธ์ในการทํางาน. จันทบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี.