คำว่า “บน” ในภาษาไทย: พัฒนาการด้านชนิดคำ พัฒนาการด้านชนิดคำ

Main Article Content

Pakapot Thiamthan
Mingmit Sriprasit

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านชนิดคำของคำว่า “บน” ในภาษาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1781-พ.ศ.1981) จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489-พ.ศ.2559) โดยเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลประเภทเอกสารและประเภทคลังข้อมูลหรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อพิจารณาข้อมูลคำว่า “บน” จำนวน 2,441 แห่งแล้ว ผลการวิจัยพบว่า คำว่า “บน” สามารถจำแนกชนิดคำได้ 3 ชนิด คือ คำนาม “บน” สามารถปรากฏในลักษณะคำนามเดี่ยวตามลำพังในตำแหน่งด้านหน้าคำกริยาหรือกริยาวลี ด้านหลังคำกริยาหรือกริยาวลี ด้านหลังคำบุพบท รวมถึงในตำแหน่งด้านหน้าสุด ซึ่งเป็นหน่วยหลักของนามวลี มีความหมายแสดงบริเวณพื้นที่ที่สูงกว่าหรือเหนือกว่าระดับอ้างอิงขึ้นไป เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยที่ 1 สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1781-พ.ศ.1981) ถึงสมัยที่ 6 สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489-พ.ศ.2559) คำคุณศัพท์ “บน” สามารถปรากฏในตำแหน่งด้านหลังคำนามหรือนามวลี ขยายความหมายแสดงบริเวณพื้นที่ที่สูงกว่าหรือเหนือกว่าระดับอ้างอิงขึ้นไปแล้วร่วมกันเป็นหนึ่งนามวลี เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยที่ 1 สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1781-พ.ศ.1981) ถึงสมัยที่ 6 สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489-พ.ศ.2559) และคำบุพบท “บน” สามารถปรากฏในตำแหน่งระหว่างคำกริยาหรือกริยาวลีกับคำนามหรือนามวลี และระหว่างคำนามหรือนามวลีกับคำนามหรือนามวลี มีความหมายแสดงตำแหน่งความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ของสิ่งกับสิ่ง เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยที่ 2 สมัยอยุธยาและธนบุรี (พ.ศ.1893-พ.ศ.2325) ถึงสมัยที่ 6 สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2489-พ.ศ.2559) ลักษณะดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์คำหลายหน้าที่และแสดงให้ทราบถึงปรากฏการณ์คำหลายหน้าที่ในภาษาไทย อีกทั้งยังสอดคล้องและแสดงให้ทราบถึงกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ในภาษาไทยอีกด้วย คำว่า “บน” ที่เป็นคำบุพบท ซึ่งเป็นคำไวยากรณ์อาจกลายหรือพัฒนามาจากคำว่า “บน” ที่เป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์ ซึ่งเป็นคำหลัก การเปลี่ยนแปลงของคำว่า “บน” มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสอดคล้องกับการกลายเป็นคำไวยากรณ์ตามลักษณะที่เป็นสากล

Article Details

How to Cite
Thiamthan, P., & Sriprasit, M. (2019). คำว่า “บน” ในภาษาไทย: พัฒนาการด้านชนิดคำ: พัฒนาการด้านชนิดคำ. มนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 20(1), 86–118. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/view/186538
บท
บทความวิจัย