การพัฒนารูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารแบบเคลื่อนที่
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) พฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ของนักท่องเที่ยวชาวไทย 2) ความต้องการเนื้อหาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ 3) ความต้องการรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ และ 4) เพื่อพัฒนารูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารแบบเคลื่อนที่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 447 คน เลือกตัวอย่างแบบโควต้า ผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการด้านสื่อใหม่ ด้านการท่องเที่ยวและด้านจิตวิทยา จำนวน 10 คน โดยเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือในการวิจัยคือ แบบสอบถามและต้นแบบสื่อปฏิสัมพันธ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย
ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการใช้สื่อทุกวัน โดยการค้นหาข้อมูลและการสนทนาทุกวัน ส่วนการโพสต์ข้อความ แสดงความเห็น และเล่นเกม แล้วแต่โอกาส
2) กลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความต้องการเนื้อหาการท่องเที่ยวด้านอาหารประจำถิ่น ประวัติและเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวข้อง บริบทสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว ประเพณีและเทศกาล โบราณสถาน วิถีชีวิตของชุมชน การแสดงออกทางนาฏศิลป์ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ โบราณวัตถุ เพลงหรือดนตรีพื้นบ้าน ศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรม ภาษาท้องถิ่น งานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น วรรณกรรม และการแต่งกายประจำถิ่น 3) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความต้องการรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ ได้แก่ การเชื่อมโยงจากภาพ กราฟิก ข้อความ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยเลื่อนอ่านได้ทีละหน้า การค้นหาโดยการพิมพ์คำค้นและแสดงผลเฉพาะเรื่องที่ต้องการ และต้องการสื่อในรูปแบบภาพถ่าย วิดีโอ อะนิเมชั่น เสียง ข้อความและกราฟิก 4) รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่มี 3 รูปแบบคือ แบบให้ข้อมูล แบบแลกเปลี่ยนและแบบร่วมสร้าง โดยผลการประเมินการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญ โดยรวมพบว่า มีค่าเฉลี่ยในระดับดีมากทั้ง 3 รูปแบบ และผลการประเมินจากกลุ่มตัวอย่าง โดยรวมพบว่า มีความพึงพอใจในแบบแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมาคือ แบบให้ข้อมูล และแบบร่วมสร้าง ตามลำดับ