จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

มนุษยศาสตร์สารมีการดำเนินงานเพื่อรักษามาตรฐานของวารสารและด้านจริยธรรมการตีพิมพ์ตามหลักปฏิบัติของ คณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (COPE: Committee on Publication Ethics) ในทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • หน้าที่ของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ
  • 1. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของวารสารให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เรียบร้อยและเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ จริยธรรมของวารสาร และตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
  • 2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งเข้ามายังวารสาร
    ทุกบทความตามลำดับ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ คุณค่าทางวิชาการและความสอดคล้องของเนื้อหาบทความกับขอบเขตของวารสาร รวมถึงตรวจสอบคุณภาพของบทความหลังผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพและแก้ไขบทความอีกครั้งก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่
  • 3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องพิจารณาตัดสินบทความด้วยความเป็นธรรม ปราศจากอคติหรือความโน้มเอียงใด ๆ ทั้งสิ้น
  • 4. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องคอยตรวจสอบบทความไม่ให้เกิดการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน หรือ
    การคัดลอกผลงานของผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เกิดการผิดจริยธรรม
  • 5. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานของวารสาร ตลอดจนบริหารจัดการวารสารให้คงคุณภาพ ได้มาตรฐานในกรอบเวลาที่กำหนดไว้อยู่เสมอ
  • 6. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการห้ามเปิดเผยข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียนบทความ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินงานของวารสารหรือระหว่างที่บทความยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ ไม่ว่าในกรณี
    ใด ๆ ทั้งสิ้น
  • หน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
  • 1. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการรับประเมินบทความ โดยพิจารณาว่าตนมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และสาขาที่รับประเมินหรือไม่ รวมทั้งต้องประเมินบทความโดยคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นสำคัญ บนพื้นฐานแห่งหลักการ ความถูกต้องและเหตุผลทางวิชาการ โดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น
  • 2. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องชี้แจงเหตุผลโดยอ้างอิงถึงหลักการและผลงานที่สอดคล้องกับบทความของผู้เขียนบทความที่กำลังประเมินด้วย แม้ว่าจะมิได้มีการอ้างไว้ในบทความ ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการคัดลอกผลงานจากผู้อื่น หรือตีพิมพ์ซ้ำซ้อน ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้
    กองบรรณาธิการทราบพร้อมด้วยหลักฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
  • 3. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของบทความที่ผู้เขียนบทความส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในระหว่างที่บทความนั้นยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมถึงไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นที่ระบุตัวตนถึงตนเองผ่านการประเมินด้วย
  • 4. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่มีมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนบทความ และกองบรรณาธิการ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม หากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความเห็นว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยู่ในขอบข่ายแห่งการมีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องรีบแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ พร้อมทั้งปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
  • 5. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องรักษาเวลาและทำการประเมินบทความให้อยู่ในกรอบระยะเวลาที่วารสารกำหนด
  • หน้าที่ของผู้เขียนบทความ
  • 1. ผู้เขียนมีหน้าที่ต้องศึกษารายละเอียดและข้อมูลของวารสารอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้อง เรียบร้อยของบทความก่อนส่งเข้าระบบวารสาร และแนบเอกสารตามเงื่อนไขที่วารสาร มนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนด รวมถึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของวารสารอย่างเคร่งครัด
  • 2. ผู้เขียนต้องไม่ทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการเขียนบทความ โดยต้องไม่คัดลอก และทำซ้ำบทความของผู้อื่น รวมถึงการตีพิมพ์งานที่ซ้ำซ้อนด้วย
  • 3. ในระหว่างที่ผู้เขียนส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนต้องไม่นำบทความนั้นไปยื่นขอรับการพิจารณาที่อื่น
  • 4. ผู้เขียนบทความต้องไม่สร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อมูลอันไม่เป็นจริงในบทความที่ได้นำมาเสนอพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร
  • 5. ผู้เขียนบทความต้องมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อน และการคัดลอกบทความตนเองและผู้อื่น ก่อนยื่นส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร รวมถึงมีการอ้างอิงที่ถูกต้อง ครบถ้วน
  • 6. ในกรณีเป็นบทความที่ได้จากผลงานวิจัยซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องยื่นส่งเอกสารดังกล่าวให้วารสาร หากแต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เขียนในการมีเอกสารใบรับรองจริยธรรมไว้ในครอบครองในกรณีที่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน
    การดำเนินการตามหลักจริยธรรม การยินยอมให้เก็บข้อมูล หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หากมีข้อผิดพลาดประการใด งานวารสารจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
  • 7. ผู้เขียนต้องปรับแก้บทความตามผลประเมิน และคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ รวมถึง
    กองบรรณาธิการให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะต้องเลื่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปหรืออาจถูกถอดถอนออกจากวารสาร
  • 8. ผู้เขียนควรระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (หากมี) และควรระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี) ให้ชัดเจน*
  • 9. ห้ามผู้เขียนนำบทความที่ถูกตีพิมพ์ในมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เพื่อนำไปเสนอการตีพิมพ์ในวารสารอื่น นำเสนอบทความในรูปแบบต่าง ๆ หรือกระทำการอื่น ๆ ต่อไป

หมายเหตุ: * ทางวารสารไม่อนุญาตให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมชื่อแหล่งทุนหลังจากที่บทความได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว