จริยธรรมการตีพิมพ์สำหรับวารสาร Journal of Human Rights and Peace Studies

คณะบรรณาธิการวารสาร Journal of Human Rights and Peace Studies (HRPS) ยึดมั่นในหลักความซื่อตรงสำหรับผลงานที่เราจะตีพิมพ์และรับประกันถึงมาตรฐานในหลักจริยธรรมสำหรับการตีพิมพ์วารสารอย่างสูงสุด  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์วารสารจะต้องทำความตกลงร่วมกันในการยึดถือหลักมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าว ทั้งผู้นิพนธ์/ผู้เขียน บรรณาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

หน้าที่ของบรรณาธิการ

บรรณาธิการของวารสาร HRPS ควรต้องกระทำตามหลักการและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมในเรื่องความเป็นอิสระ ความซื่อสัตย์หรือความซื่อตรง ความโปร่งใส การรักษาความลับ ความเป็นกลางและประเด็นเกี่ยวข้องกับการขัดกันแห่งผลประโชน์

  • บรรณาธิการมีความรับผิดชอบโดยอิสระในการตัดสินใจว่าบทความใดควรได้รับการตีพิมพ์ ตามที่สอดคล้องกับนโยบายในการพิจารณาบทความของวารสารฯ และคณะบรรณาธิการ
  • บรรณาธิการพึงให้หลักประกันว่า กระบวนการในการประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นธรรม ปราศจากอคติและดำเนินการตามเวลาที่กำหนด บทความต้นฉบับจะต้องได้รับการประเมินจากผู้ประเมินบทความอย่างน้อย 2 คน
  • บรรณาธิการควรรักษาความลับของข้อมูลและเนื้อหาที่ส่งมายังวารสาร และจะต้องรักษาความลับและตัวตนของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความและผู้นิพนธ์/ผู้เขียน ตลอดทั้งกระบวนการประเมินบทความ
  • บรรณาธิการไม่ควรเข้าเกี่ยวข้องกับบทความที่ตนมีการขัดกันของผลประโยชน์อยู่ ตัวอย่างเช่น บทความที่บรรณาธิการผู้นั้นเขียนเอง หรือบทความที่เขียนโดยสมาชิกในครอบครัวของบรรณาธิการ หรือบทความต้นฉบับที่บรรณาธิการมีส่วนได้ส่วนเสียในการตีพิมพ์
  • บรรณาธิการควรดำรงให้มีความซื่อสัตย์และความซื่อตรงในผลงานและบันทึกการตีพิมพ์ด้วยการแก้ไข (correction) หรือเรียกคืนการตีพิมพ์บทความ (retraction) ในกรณีที่จำเป็น และดำเนินการต่องานวิจัยหรือบทความที่มีข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนในพฤติกรรมที่มิชอบ
  • บรรณาธิการมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการหากพบว่ามีเหตุสงสัยหรือได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบทความ หน้าที่ดังกล่าวจะต้องดำเนินการกับทั้งบทความที่ได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้รับการตีพิมพ์

 

หน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

บทความต้นฉบับแต่ละบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Human Rights and Peace Studies  อยู่ภายใต้กระบวนการประเมินบทความของกองบรรณาธิการและการประเมินบทความแบบผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แต่งไม่ทราบชื่อกันและกัน (double blind peer-review)  ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความควรปฏิบัติตามหลักการและแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • ผู้ประเมินบทความควรยินยอมที่จะประเมินบทความต้นฉบับในหัวข้อหรือประเด็นที่ตนมีความเชี่ยวชาญและความรู้ในการประเมินบทความนั้น ๆ และสามารถประเมินบทความได้ภายในเวลาที่เหมาะสม
  • ผู้ประเมินบทความควรเคารพในการรักษาความลับและข้อมูลของกระบวนการในการประเมินบทความ ผู้ประเมินไม่ควรที่จะเปิดเผยรายละเอียดใด ๆ ในบทความต้นฉบับหรือในการประเมินบทความทั้งในระหว่างหรือภายหลังกระบวนการประเมินบทความ  และข้อมูลหรือแนวคิดพิเศษที่ได้มาจากกระบวนการประเมินบทความจะต้องได้รับการรักษาเป็นความลับและไม่ถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
  • ผู้ประเมินบทความควรมีความเป็นกลาง ปราศจากอคติและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการประเมินบทความ โดยควรที่จะหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นที่เป็นศัตรูหรือยั่วยุ และให้ความเห็นส่วนตัวในเชิงดูหมิ่น
  • ผู้ประเมินควรเปิดเผยให้ทราบถึงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของตน หากว่าผู้ประเมินไม่แน่ใจว่าอาจเกิดกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขึ้น ผู้ประเมินควรปรึกษากับบรรณาธิการก่อนที่จะตกลงดำเนินการประเมินบทความนั้น
  • ผู้ประเมินควรเคารพกรอบระยะเวลาที่ได้ตกลงไว้ในการประเมินบทความ ผู้ประเมินควรจะต้องแจ้งให้ทางบรรณาธิการรับรู้โดยทันทีหากว่าไม่สามารถดำเนินการตามกรอบเวลาที่ได้เสนอหรือตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น หรือหากต้องการขอขยายเวลาในการประเมินบทความ

 

หน้าที่ของผู้นิพนธ์/ผู้เขียน

ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนที่ส่งบทความต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Human Rights and Peace Studies ควรปฏิบัติตามหลักการและแนวทางปฏิบัติทางจริยธรรมในเรื่องการส่งบทความต้นฉบับที่ไม่มีการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ความแม่นยำในเนื้อหาข้อมูล การเคารพในแหล่งข้อมูลที่อ้างอิง และการเปิดเผยการสนับสนุนทางการเงินและการขัดกันของผลประโยชน์ ดังนี้

  • ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรยึดถือตามข้อกำหนดของวารสารในการตีพิมพ์ในประเด็นที่ว่า บทความต้นฉบับถือเป็นผลงานดั้งเดิมของผู้นิพนธ์/ผู้เขียน และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน (บางส่วนหรือทั้งหมด) หรือไม่ได้ส่งเพื่อการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นในเวลาเดียวกัน ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรชี้แจงหรือให้ความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลหรือเนื้อหาซ้ำเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ของการใช้เนื้อหาซ้ำ (text-recycling) หรือการคัดลอกผลงานของตนเอง (self-plagiarism)
  • ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรรับผิดชอบต่อผลงานและเนื้อหาในบทความของตน ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรนำเสนอข้อมูลและผลการศึกษาอย่างถูกต้องแม่นยำ ซื่อสัตย์และไม่ปลอมแปลงข้อมูลหรือจัดการข้อมูลโดยไม่เหมาะสม
  • หากบทความต้นฉบับเป็นงานเขียนที่ต่อยอดจาผลงานที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้หรือผู้เขียนได้ใช้งานและ/หรือคำพูดของคนอื่น ๆ ผู้เขียนควรยอมรับความคิดดังกล่าวด้วยการอ้างอิงอย่างเหมาะสมและควรขออนุญาตในกรณีที่จำเป็น
  • ผู้เขียนควรดำเนินกระบวนการวิจัยในลักษณะที่มีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ รวมถึงการรวบรวมข้อมูล การรักษาความลับของผู้เข้าร่วมและความยินยอมของพวกเขาในการวิจัย และการรปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมของแหล่งข้อมูล (รวมถึงสัตว์)
  • การให้เครดิตต่อผู้เขียนของบทความควรสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานแบะการเขียนรายงานอย่างถูกต้อง ผู้เขียนหลักที่เป็นผู้ติดต่อกับวารสารฯ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีผู้เขียนร่วมที่เหมาะสมทั้งหมดรวมอยู่ในบทความ และผู้เขียนร่วมทั้งหมดได้รับรู้และอนุมัติบทความฉบับสุดท้าย และได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเพื่อตีพิมพ์ผลงาน
  • ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรเปิดเผยแหล่งเงินทุนทั้งหมดสำหรับการวิจัยและกระบวนการเขียนบทความ รวมถึงปัญหาการขัดกันของผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการวิจัย เช่น เงินทุนการวิจัย หรือการให้บริการคำปรึกษา ค่าตอบแทน ความสัมพันธ์ส่วนตัวและในหน้าที่การงาน การมีสังกัดหลากหลายแห่ง ความสัมพันธ์ด้านการเงินและลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
  • ผู้นิพนธ์/ผู้เขียนควรเคารพการรักษาความลับ ข้อมูลที่ได้รับในกระบวนการของการบริการที่เป็นความลับ เช่น ต้นฉบับที่ได้รับการตรวจประเมิน หรือใบสมัครการขอทุน จะต้องไม่ถูกนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนของผู้เขียนของงานที่เกี่ยวข้องกับบริการเหล่านี้
  • เมื่อผู้เขียนพบข้อผิดพลาดที่สำคัญหรือไม่ถูกต้องในผลงานที่ตีพิมพ์ของตน ผู้เขียนมีหน้าที่ในการแจ้งต่อบรรณาธิการวารสารฯ และให้ความร่วมมือกับบรรณาธิการเพื่อถอนบทความหรือแก้ไขบทความ หากบรรณาธิการเห็นว่าจำเป็น