วิเคราะห์การใช้โวหารและภาพสะท้อนชีวิตที่ปรากฏในบทเพลงลูกทุ่งของ นุ้ย สุวีณา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิเคราะห์การใช้โวหารและภาพสะท้อนชีวิตที่ปรากฏในบทเพลงลูกทุ่งของ นุ้ย สุวีณา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาวิเคราะห์โวหารที่ปรากฏในบทเพลงลูกทุ่งของ นุ้ย สุวีณา 2) เพื่อวิเคราะห์ภาพสะท้อนที่ปรากฏในบทเพลงลูกทุ่งของ นุ้ย สุวีณา โดยศึกษาจากผลงานเพลงที่อยู่ในสังกัดค่ายอาร์สยามทั้งหมด จำนวน 35 บทเพลง ผลการศึกษาวิเคราะห์ปรากฏดังนี้ ศิลปะการใช้โวหารที่ช่วยให้บทเพลงมีความงดงาม ทางด้านภาษา จะเห็นได้ว่า ผู้ประพันธ์จะเลือกการใช้โวหารที่มีความหมายลึกซึ้งสามารถทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ ซึ่งโวหารและภาพสะท้อนในบทเพลงลูกทุ่งของ นุ้ย สุวีณา นั้นมีความสำคัญต่อผลงานเพลงของ นุ้ย สุวีณา ซึ่งสามารถสร้างความโดดเด่น โดยเฉพาะศิลปะการใช้โวหารที่ประกอบด้วย บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหาร และอุปมาโวหาร ในส่วนของภาพสะท้อน ประกอบด้วย ภาพสะท้อนด้านวิถีชีวิตที่ ร้อยเรียงเอาการดำเนินชีวิตของคนใต้ ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอนมาบอกเล่าผ่าน บทเพลง เช่น การประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการทำประมง ภาพสะท้อนด้านความรัก มีหลายมุมมองที่แตกต่างกัน มีทั้งความรักจากครอบครัวและความรักจากคนรัก ซึ่งความรักก็มีทั้งสมหวังและผิดหวังแต่สุดท้ายก็แฝงไปด้วยแง่คิดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจกับบทเพลงเหล่านั้น ภาพสะท้อนด้านการศึกษา เป็นการสะท้อนการศึกษาของคนใต้ที่นิยมไปศึกษาในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะเรียนและทำงานไปพร้อม ๆ กัน หวังแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่อยู่ทางบ้าน และภาพสะท้อนด้านวัฒนธรรมภาษาถิ่น เป็นการนำเอาภาษาถิ่นใต้ไปเพิ่มเสน่ห์ให้กับบทเพลงเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และเสน่ห์ของภาษาใต้ ในส่วนข้อคิดที่ปรากฏในบทเพลงนั้นจะมีเนื้อหาสะท้อนการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้นของมนุษย์เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในสังคมยุคปัจจุบันรวมทั้งสามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการสังคมมนุษย์