รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียน ของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

Authors

  • ณัฏฐ์ หลักชัยกุล ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Keywords:

รูปแบบการจัดการเรียนรู้, การพัฒนามนุษย์, ประชาคมอาเซียน, สถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี

Abstract

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจของนักเรียน และนักศึกษาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในอำเภอเมืองปัตตานี 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียน และนักศึกษาต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียนของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี และ 3) เพื่อเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียนของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากจำนวนประชากรทั้งหมด 15,990 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 452 คน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี จำนวน 85 คน และวิทยาลัยชุมชนปัตตานี จำนวน 157 คน รวม 749 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จำนวน 141 คนและโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี จำนวน 217 คน รวม 358 คน และนักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี จำนวน 203 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,310 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากคำถามปลายเปิด นำเสนอข้อมูลด้วยความถี่ และร้อยละ
    ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 908 คน (ร้อยละ 69.31) อายุเฉลี่ยของนักศึกษาปริญญาตรี นักเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษา เท่ากับ 23.0 ปี 16.5 ปี และ 11.5 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี และนับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 908 คน (ร้อยละ 69.31) และ 786 คน (ร้อยละ 60.0) ตามลำดับ นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่า 1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของนักเรียน และนักศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี นักศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในระดับปานกลาง (\bar{X}ป.ตรี = 2.33, S.D.= 0.354) สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษามีคะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอยู่ระหว่างร้อยละ 20.3 - 97.7 และร้อยละ 18.3 - 92.6 ตามลำดับ 2) การเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียนของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานีอยู่ในระดับปานกลาง (\bar{X}เฉลี่ยรวม= 3.15, S.D.= 0.48) ความคิดเห็นของนักเรียน และนักศึกษาในระดับปริญญาตรี มัธยมศึกษา และประถมศึกษาต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียนจะอยู่ในระดับปานกลางเช่นกันทั้งหมด กล่าวคือ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษามีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนสูงกว่าระดับประถมศึกษา และปริญญาตรี (\bar{X}มัธยม = 3.35, S.D.= 0.50, \bar{X}ประถม = 3.28, S.D.= 0.38, \bar{X}ปริญญาตรี = 3.11, S.D.= 0.52) ตามลำดับ และ 3) รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียนของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี ได้แก่ 1) แบบการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) แบบการประยุกต์สื่อการเรียนการสอนให้เป็นมิตรกับผู้เรียน 3) แบบการพัฒนาสภาพแวดล้อม วิถีธรรมชาติ วิถีไทยมุสลิม 4) แบบการบริหารตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตรวจสอบได้ และ 5) แบบโครงงานที่สร้างสรรค์

Downloads

How to Cite

หลักชัยกุล ณ. (2017). รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ประชาคมอาเซียน ของสถาบันการศึกษาในอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี. Journal of Humanities and Social Sciences Prince of Songkla University, 12(2), 151–200. retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/eJHUSO/article/view/98296