BOOK REVIEW: LE DRÔLE

Authors

  • Rujeeluck Seelakate PhD candidate, Doctoral School of French and Comparative Literature, Faculty of Arts, Sorbonne University, Paris, France

Abstract

บริบทและเรื่องย่อของ “เจ้าหนู”
วรรณกรรมเยาวชน “เจ้าหนู” (Le Drôle) เป็นเรื่องราวของแอร์เนสต์ โรมาซิล หรือที่ผู้ใหญ่รอบตัวเรียกเขาว่า “เจ้าหนู” เด็กชายผู้เอาแต่ใจ ลูกชายของครอบครัวโรมาซิล ผู้มีฐานะจากการให้เช่าที่ดิน “เจ้าหนู”ถูกตามใจจากผู้ใหญ่ในบ้านจนเสียคน ทั้งรับประทานจุจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดื่มไวน์ราวกับผู้ใหญ่ โมโหร้าย ทำร้ายร่างกายคนรับใช้เป็นครั้งคราวเมื่อไม่ได้ดังใจ เมื่อบิดาจ้างครูพี่เลี้ยงมาสอนก็ไม่เชื่อฟังจนครูพี่เลี้ยงพากันลาออกถึง 18 คน จนกระทั่งมาดมัวแซลติโบด์ ครูพี่เลี้ยงคนใหม่เดินทางมาถึงเมืองมิลาส แม้เกือบถอดใจที่จะอบรมศิษย์ดื้อคนนี้แต่สุดท้ายครูพี่เลี้ยงคนใหม่ก็สามารถที่จะขัดเกลา “เจ้าหนู” ได้ ผ่านการขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองคือ เมอซิเยอร์โรมาซิล ผู้เป็นบิดา มาดามการ์รูสต์ ผู้เป็นยาย และ เซอกงด์ แม่นม ออกไปอาศัยที่อื่นชั่วคราว เหลือเพียงครูพี่เลี้ยงและคนรับใช้จำนวนหนึ่ง บรรดาชาวเมือง เช่น ลูคร็อคก์ และ มาดามโกดร็อง ต่างพากันจับตามองและนินทาเรื่องนี้กันอย่างสนุกปาก ครูพี่เลี้ยงแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์เจอเด็กดื้อมาก่อน ก็เริ่มวิธีการสอนที่แปลกใหม่ เช่น มีการจำกัดอาหารและงดอาหารรสหวานมันเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของ “เจ้าหนู” แต่เมื่อครูพี่เลี้ยงแสดงความเมตตาด้วยการช่วยปฐมพยาบาลสุนัขคู่ใจของ “เจ้าหนู” และสอนเขาเล่นดนตรีนั่นเองที่ทำให้ “เจ้าหนู” ยอมเปิดใจและปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง

เรื่องสั้น “เจ้าหนู” เป็นผลงานประพันธ์ของ ฟรองซัว โมริยัค (François Mauriac) มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ. 1885-1970 โมริยัค เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิจารณ์และราชบัณฑิตชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง ผู้เคยได้รับรางวัลใหญ่ด้านการประพันธ์หลายรางวัล โดยเฉพาะจากราชบัณฑิตยสภาประเทศฝรั่งเศสประเภทนวนิยายและประเภทผลงานโดยรวม และรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 โมริยัค เดินทางจาก บอร์โด (Bordeaux) ถิ่นกำเนิดมาใช้ชีวิตที่กรุงปารีส และในปี 1909 เขาลาออกจากการเรียนเพื่อมาทุ่มเทให้กับการประพันธ์อย่างเต็มตัว เรื่องสั้น “เจ้าหนู” หรือในชื่อภาษาฝรั่งเศส Le Drôle ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี ค. ศ. 1933 ซึ่งเป็นช่วงที่ โมริยัค มีชื่อเสียงมากแล้วจากผลงานสร้างชื่อเรื่องก่อนหน้าหลายเรื่อง เช่น Le Baiser au lépreux (1922) ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “จุมพิตสีขาว”, Le Fleuve de feu (1923), Génitrix (1923) หรือ “มาตา”, Le Désert de l’amour (1925), Thérèse Desqueyroux (1927) หรือ “แตเรส เดสเกรูซ์”, Le Nœud de vipères (1932) หรือ “ปมอสรพิษ”, Le Mystère Frontenac (1933) (Larousse, n.d.) ในปีที่ “เจ้าหนู” ตีพิมพ์นั้น มอริยัค ยังได้เข้ารับตำแหน่งราชบัณฑิตในราชบัณฑิตยสภาแห่งฝรั่งเศส (l’Académie française)

แม้ในอดีต โมริยัค จะมีมุมมองแบบคาทอลิคอนุรักษ์นิยมตามการเลี้ยงดูจากครอบครัวกระฎุมพีของเขา แต่ในช่วงทศวรรษ 30 นี่เองที่เขาเริ่มสนใจวิจารณ์สังคมมากขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โมริยัค ประณามรัฐบาลฝรั่งเศสที่เข้าร่วมกับพรรคนาซีว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบผ่านวารสารของเหล่าปัญญาชนฝรั่งเศสที่ลักลอบตีพิมพ์เผยแพร่และรวมเล่มตีพิมพ์ในภายหลังในชื่อ Cahier noir และในปีค.ศ. 1952 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากนวนิยาย Le Désert de l’amour และในปีเดียวกันนี้ โมริยัค เริ่มเขียนบทความวิจารณ์ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ของสังคมลงในคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์เลอฟิกาโร (Le Figaro) และเล็กซ์เปรส (L’Express) จนกระทั่งวาระสุดท้ายในปี 1970

References

วัลยา วิวัฒน์ศร. (2565). เจ้าหนู. อ่าน ๑๐๑ สำนักพิมพ์.

François Mauriac. (n.d.) https://www.larousse.fr/encyclopedie/personnage/Fran%C3%A7ois_Mauriac/132354.

Hubbs-Tait, L., Kennedy, T. S., Page, M. C., Topham, G. L., & Harrist, A. W. (2008). Parental feeding practices predict authoritative, authoritarian, and permissive parenting styles. Journal of the American Dietetic Association, 108(7), 1154–1162. https://doi.org/10.1016/j.jada.2008.04.008

Kimmel, E. A. (1979). Toward a Theory of Children’s Literature. Language Arts, 56(4), 357–362. http://www.jstor.org/stable/41404811

T, Sanvictores, & MD, Mendez. (2022) Types of Parenting Styles and Effects on Children. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK568743/

Downloads

Published

24-06-2024

How to Cite

Seelakate, R. (2024). BOOK REVIEW: LE DRÔLE. Journal of Humanities and Social Sciences Prince of Songkla University, 20(1), 174–179. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/eJHUSO/article/view/270993