กลยุทธ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้กับประชาคมระหว่างประเทศ ที่มีต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
Keywords:
กลยุทธ์, รัฐบาลเกาหลีใต้, ประชาคมระหว่างประเทศ, อาวุธนิวเคลียร์, เกาหลีเหนือAbstract
การพัฒนาและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือถือว่าเป็นปัญหาที่สร้างความตึงเครียดให้แก่เกาหลีใต้ และนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน เนื่องจากศักยภาพของอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือพัฒนาขึ้นจะเป็นชนิดที่รุนแรงมากขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ 1) สถานการณ์การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในช่วงต่าง ๆ 2) ศึกษากลยุทธ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้และประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในช่วงต่าง ๆ และ 3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมุ่งมั่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ช่วงวิกฤติอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือครั้งที่ 1 จนถึงช่วงวิกฤติอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือครั้งที่ 5 กลยุทธ์ที่รัฐบาลเกาหลีใต้และประชาคมระหว่างประเทศนำมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจา และการทำ
ความตกลงเกี่ยวกับนิวเคลียร์ โดยในสมัยรัฐบาลโนแทวูได้ใช้กลยุทธ์การเปิดการเจรจาและและทำข้อตกลงอนุสัญญาร่วมกันระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ สมัยรัฐบาลคิมยองซัมใช้กลยุทธ์การประชุมหารือโดยมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เจรจากับเกาหลีเหนือเป็นหลัก ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีคิมแดจุงได้เน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเกาหลีเหนือผ่านการค้าร่วมกันระหว่างสองประเทศ เน้นให้ความช่วยเหลือทางงบประมาณในการพัฒนาประเทศของเกาหลีเหนือ สำหรับในสมัยรัฐบาลโนมูฮฺยอนใช้กลยุทธ์การเจรจาประนีประนอม เน้นการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งกันและกันของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ดังเช่น การเปิดเจรจา 6 ฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยประธานาธิบดีอีมฺยองบักเน้น การใช้กลยุทธ์แข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือดำเนินนโยบายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ต่อมาในสมัยรัฐบาลปักกึนเฮฺยก็เช่นเดียวกันแม้ช่วงแรกมีกลยุทธ์การสร้างความเชื่อมั่นบนคาบสมุทรเกาหลีแต่ต่อมาก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ
ถึงแม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้และประชาคมระหว่างประเทศจะใช้นโยบายใดก็ตาม แต่เกาหลีเหนือก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่หยุดยั้ง นั่นเป็นเพราะเกาหลีเหนือเกรงกลัวภัยอันตรายจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาอำนาจของโลก และอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นของวารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี