Editorial

Authors

  • Professor Dr.Chalermsak Pikulsri

Abstract

วารสารแก่นดนตรีและการแสดงที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นฉบับปฐมฤกษ์ของการเผยแพร่ในระบบออนไลน์ มีบทความที่เผยแพร่ในฉบับนี้จำนวน 7 เรื่อง เป็นบทความวิจัย-สร้างสรรค์ 2 เรื่อง และบทความวิชาการ 5 เรื่องบทความวิจัยเรื่องดนตรีรูเงกในพิธีกรรมแก้บนของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย ของจารุวัฒน์ นวลใย
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี และเรวดี อิ้งโพธิ์ นำเสนอดนตรีพิธีกรรมแก้บนของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ยในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล โดยศึกษารูปแบบพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับแนวคิดตามคตินิยม ส่วนงานสร้างสรรค์ของอาทิตย์ กระจ่างศรี เรื่องสาวะถีสู่สุดสะแนน: การสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านอีสานร่วมสมัยจากฐานชุมชน เป็นการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ จากแนวคิดวรรณกรรมพื้นบ้านสินไซ สร้างสรรค์ในรูปแบบที่ร่วมสมัย

            ในบทความวิชาการจำนวน 5 เรื่อง บทความเรื่องธุรกิจดนตรีในระบบสื่อสังคมออนไลน์ ของเจริญชัย แสงอรุณ นำเสนอถึงธุรกิจดนตรีที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมไทยในทุกรูปแบบที่ครอบคุมรูปแบบดนตรีทุกประเภท นับเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับบทความของยสพรรณ พันธะศรี เรื่องแนวทางการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองได้ เป็นบทความด้านดนตรีบำบัด ที่มุ่งนำเสนอถึงรูปแบบและความเหมาะสมของดนตรีและรูปแบบของกิจกรรมที่นำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ที่นับเป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ บทความเรื่อง ญี่ปุ่น : ดนตรีกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ของนรเศรษฐ์ อุดาการ นำเสนอถึงความสำเร็จของญี่ปุ่นในฐานะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่อาศัยดนตรีเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ บทความของรภัสสรณ์ พุฒิชวัลพัฒน์ เรื่องการก้าวข้ามความแตกต่าง : ปรากฏการณ์ทางดนตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอถึงการนำดนตรีที่มีพื้นฐานจากทำนองเพลงพื้นบ้านภาคใต้ มาช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดสันติภาพ สันติสุขของประเทศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ สำหรับบทความสุดท้ายเรื่องศิลปะการเป่าแคนของหมอแคนแดนลาวของสกุณา พันธุระ นำเสนอศิลปะการเป่าแคน รูปแบบการเรียนรู้การเป่าแคนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดของชาวบ้านและการถ่ายทอดในสถานศึกษาที่จัดการโดยรัฐ ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้สนใจในการศึกษาการเป่าแคนลาว

            ในนามของกองบรรณาธิการ ผมใคร่ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้กรุณาให้เกียรติร่วมเป็นกองบรรณาธิการและพิจารณากลั่นกรองบทความ ขอบคุณคณาจารย์ นักวิชาการที่ร่วมส่งบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ วารสารแก่นดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความตั้งใจแน่วแน่ในการเปิดโอกาสให้ทุกท่าน มีส่วนร่วมบนเส้นทางวิชาการด้านดนตรีและการแสดง พร้อมนี้ใคร่ขอเชิญชวนร่วมส่งบทความเผยแพร่ในวารสารฉบับต่อไป

Downloads

Published

2021-04-30

Issue

Section

Editorial Note