Editorial Article

Main Article Content

บรรณาธิการ

Abstract

บทความใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม (Supplemental Issue) นี้ เสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทยที่แสดงออกในหลายมิติของชีวิต ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการนับถือพุทธศาสนา ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปฏิกิริยาต่อชาตินิยมในยุคต่างๆ ของชนชั้นกลางเชื้อสายจีนและมุสลิม การพึ่งพากฎหมายและอำนาจศาลในการจัดการปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึก ความรักและวิถีทางกามารมณ์ การท่องเที่ยวและการเลือกดำรงชีวิตแบบ “ชุมชนพึ่งตนเอง” และอารมณ์ความรู้สึกต่อ “กรรมกร” มิติต่างๆ เหล่านี้มีทั้ง “ความเปลี่ยนแปลง” และ “ความไม่เปลี่ยนแปลง” ที่มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจทิศทางของสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต


เมื่อกล่าวถึง “ชนชั้นกลาง” คำถามแรกที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ “ชนชั้นกลางหมายถึงใคร?”


คำถามทำนองนี้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์มักจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ยาก เพราะเมื่อให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และอธิบายเรื่องหนึ่งๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทอย่างซับซ้อน ก็ทำให้ไม่อาจนิยามความหมายของกลุ่มคน สถาบัน หรือปรากฏการณ์ที่ตนเองศึกษาอย่างตายตัว (ถึงแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม ก็จำเป็นจะต้องมีกรอบของความหมายที่ชัดเจนพอสมควรกำกับอยู่จึงจะสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้)


เรื่อง “ชนชั้นกลาง” ที่นำเสนอในวารสารฉบับนี้ มิได้นิยามหรือยึดเอาความหมายของ“ชนชั้นกลาง” ที่มีอยู่ในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมาเป็นกรอบในการศึกษา แต่มีความคาดหวังว่าเมื่อนำเสนอภาพของ “ชนชั้นกลาง” ในหลายๆ มิติออกมาแล้วก็จะช่วยให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า “ชนชั้นกลาง” เป็นใคร มีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร และมีปัจจัยหรือบริบทใดบ้างที่ส่งผลให้เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ทุกบทความยังใช้คำว่า “ชนชั้นกลาง” โดยมิได้ยึดกรอบทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่ถือว่าจะเป็น “ชนชั้น” ได้ก็ต่อเมื่อมี “จิตสำนึกทางชนชั้น” ร่วมกันเท่านั้น


ถึงแม้ว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน จนทำให้เกิด “ชนชั้นกลาง” ที่มีฐานะแตกต่างกันหลายระดับ ซึ่งทำให้งานเขียนทางวิชาการในระยะหลังนิยมแบ่ง “ชนชั้นกลางไทย” ออกเป็นชนชั้นกลางระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง แต่บางบทความใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้
ก็มิได้เคร่งครัดกับ “ระดับ” ของ “ชนชั้นกลาง” มากนัก หลายบทความใช้คำว่า “ชนชั้นกลาง” ในความหมายอย่างกว้าง คือ หมายถึงกลุ่มคนที่ก่อตัวและขยายตัวจากการเติบโตของระบบการศึกษาสมัยใหม่ ระบบราชการสมัยใหม่ และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับกลางๆ ระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง อย่างไรก็ตามมีบทความบางเรื่องที่มุ่งวิเคราะห์ชนชั้นกลางระดับสูงหรือค่อนข้างสูง โดยกล่าวถึงกลุ่มคนที่มีการศึกษา มีตำแหน่งการงานและมีรายได้ที่สูงกว่าชนชั้นกลางทั่วไป และมีบางบทความที่เน้น “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากชนชั้นกลางรุ่นเก่าที่เติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเย็น แต่ทุกๆ บทความก็มิได้เคร่งครัดกับการนิยามความหมายของ “ชนชั้นกลาง” กลุ่มที่ตนเองศึกษา และมิได้ให้ความสำคัญมากนักกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณตามหลักสถิติ แม้ว่าจะมีข้อมูลเชิงตัวเลขแทรกอยู่บ้างก็ตาม


เนื่องจากชีวิตของ “ชนชั้นกลาง” มีหลายมิติ ซึ่งเป็นการยากที่จะศึกษาทุกๆ มิติอย่างละเอียด บทความต่างๆ ใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้ จึงมีลักษณะแบ่งงานกันทำ โดยผู้เขียนบทความแต่ละคนได้เลือกวิเคราะห์และอธิบายชีวิตชนชั้นกลางเพียงบางมิติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านครบทุกบทความแล้วก็หวังว่าจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของ “ชนชั้นกลางไทย” ในช่วงเวลาราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกอย่างหลากหลายและซับซ้อน ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมในทุกด้าน


ในอดีตที่ผ่านมา การศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิด” และ “ค่านิยม” ของ “ชนชั้นกลางไทย” มีอยู่มาก แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษามิติทางอารมณ์ความรู้สึกของ “ชนชั้นกลางไทย” อย่างจริงจัง โดยตระหนักว่ามิติต่างๆ ทางอารมณ์ความรู้สึกเป็นรากฐานของพฤติกรรมทางสังคมของ “ชนชั้นกลางไทย” ไม่น้อยไปกว่าความคิดและค่านิยม การที่นักวิชาการในอดีตที่ผ่านมาพากันมองข้ามความสำคัญของมิติทางอารมณ์ความรู้สึกของ “ชนชั้นกลางไทย” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเคยชินในการมองอารมณ์ความรู้สึกในแง่ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเท่ากับว่ามนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกันหมดทั้งโลก เช่น รัก โกรธ เกลียด กลัว ฯลฯ โดยมิได้พิจารณาว่าอารมณ์ความรู้สึกมีลักษณะเฉพาะทางชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศ และวัย และยังขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมอีกด้วย ในระยะหลังวงวิชาการไทยเริ่มสนใจอารมณ์ความรู้สึกอย่างจริงจังและกว้างขวางขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกในเชิงแนวคิดหรือทฤษฎี ซึ่งแม้ว่าจะมีความสำคัญทางวิชาการรวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น แต่ก็ยังขาดการนำทฤษฎีหรือมโนทัศน์เหล่านั้นมาใช้ในการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างละเอียด เพื่อที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่อาจมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและส่วนที่แตกต่างจากสังคมอื่นๆ


โครงการวิจัย ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่าและระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย ..2500-2560” ซึ่งเป็นที่มาของบทความส่วนใหญ่ใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้ ได้รับการ สนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีนักวิจัยที่ร่วมกันแสวงหาความรู้เกี่ยวกับ “ชนชั้นกลาง” จำนวน 10 คน กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แม้ว่านักวิจัยแต่ละคนจะได้รับปริญญาทางประวัติศาสตร์ในระดับใดระดับหนึ่งมาแล้ว แต่นักวิจัยบางคนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทสาขาวิชาอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เอื้อให้มีความสนใจและมีศักยภาพที่จะศึกษาในหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง

     บทความจากโครงการวิจัยที่เลือกมาตีพิมพ์ใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้ ส่วนใหญ่มาจากรายงานการวิจัยที่นำเสนอในการประชุมประจำปีครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อนำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะและรับฟังคำวิจารณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ บรรณาธิการในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยจึงใคร่ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ตั้งคำถามและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวิจัยไว้ ณ ที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ ผศ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และ อ.กฤตภัค งามวาสีนนท์


 


 


สำหรับสาระสำคัญของแต่ละบทความนั้น อาจสรุปได้ดังนี้


บทความ “กรอบประวัติศาสตร์ความรู้สึกชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนกับประวัติศาสตร์ความรู้สึกในวงวิชาการนานาชาติ” ของ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ วิเคราะห์การศึกษาประวัติศาสตร์ชนชั้นกลางไทยในอดีตที่ผ่านมา ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมุมมองอย่างน่าสนใจในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 แต่จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังขาดการพิจารณาพัฒนาการประวัติศาสตร์ระยะยาวจากข้อมูลเชิงประจักษ์ และไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของบริบท เพศ ชาติพันธุ์ วัย และถิ่นพำนักเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานต่างๆ ให้ศึกษาอย่างมากมาย อาทิ วรรณกรรม ชีวประวัติ อัตชีวประวัติ ละคร ภาพยนตร์ และหนังสือพิมพ์จีน ฯลฯ ดังนั้น สิทธิเทพ จึงศึกษา “ชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีน” เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่ควรเกิดขึ้นทั้งในวงวิชาการไทยและนานาชาติ และยังได้นำกรอบประวัติศาสตร์ความรู้สึกมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีนเพื่อเป็นตัวอย่างรูปธรรมอีกด้วย


บทความ จาก คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึง พุทธทาสภิกขุ: อิทธิพลของประกาศกบุคคลต่อจริตและอารมณ์ความรู้สึกชาวพุทธชนชั้นกลางไทย” ของ อาสา คำภา ให้ความสำคัญกับฐานคิดทางศาสนาของชนชั้นกลางที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณค่าเรื่อง “พุทธแท้” และ “พุทธเทียม” อารมณ์ความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชนชั้นกลางส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินว่าผู้นำของพุทธศาสนาสำนักนั้นๆ เป็น “พุทธแท้” หรือไม่ อาสา แสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ พุทธทาสภิกขุ เป็นประกาศกที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้างอารมณ์ความรู้สึกหรือจริตเรื่อง “แท้”-“เทียม” หรือ “แก่น”-“เปลือก” ของชาวพุทธชนชั้นกลางไทยกลุ่มที่ค่อนไปทางปัญญาชน โดยที่ “พุทธแท้” เสนอ “แก่น” ของหลักธรรมคำสอนที่วางอยู่บนทัศนะวิทยาศาสตร์นิยมและอำนาจนิยมที่เป็นเครื่องมือในการชี้ “ผิด-ถูก” และกำราบสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น “พุทธเทียม” หรือเป็นแค่ “เปลือก” ของพุทธศาสนา ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าอารมณ์ความรู้สึกหรือจริตเช่นนี้ขัดแย้งกับอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่จะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนในสังคมได้มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการนับถือและตีความศาสนา หรือแม้แต่เลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย


ในขณะที่ อาสา คำภา ศึกษาผู้นำทางความคิดที่เป็นผู้ชาย บทความเรื่อง “เสถียรธรรมสถาน: ที่พักพิงทางความรู้สึกของผู้หญิงชนชั้นกลางไทยในทศวรรษ 2540-2550” ของ บุณฑริกา พวงคำ ศึกษาสำนักแม่ชีซึ่งมีผู้หญิงเป็นผู้นำ แสดงให้เห็นว่า เสถียรธรรมสถาน ได้ทำให้ความคิดทางพุทธศาสนาตอบสนองต่อระบบคุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ของผู้หญิงชนชั้นกลาง โดยเน้นปัญญาที่ยึดโยงกับธรรมะของพุทธศาสนา ทำให้ผู้หญิงสามารถพัฒนา “ใจ” ให้เป็นอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ “เป็นตัวของตัวเอง” “มีตัวเองเป็นเพื่อน” และ “รักตัวเอง” เกิดตัวตนใหม่ที่รู้สึก “ภาคภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเอง” และเป็น “อิสระจากทุกข์” ไปพร้อมกัน เสถียรธรรมสถาน จึงเป็น “ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก” ของผู้หญิงชนชั้นกลางจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่การที่ผู้หญิงจะประสบความสำเร็จทางธรรมได้เท่าเทียมกับผู้ชาย อันเป็นแนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางบริบทที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


บทความ “พิพากษารมณ์: ระบอบกฎหมายแห่งความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย” ของ กฤษณ์พชร โสมณวัตร ถือเป็นงานบุกเบิกที่สำคัญ เพราะศึกษาอารมณ์ความรู้สึกจากคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยศาลปกครอง ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง ในช่วงทศวรรษ 2450-2550 กฤษณ์พชร เห็นว่าระบบกฎหมายมิได้เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับการกระทำของคนในสังคมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจที่เข้าไป “ปกครอง” อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีส่วนอย่างสำคัญในการประกอบสร้างมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึก การคัดกรองวิถีของพจนารมณ์ ตลอดจนการเป็น “ที่พักพิงทางอารมณ์” (หากแต่เป็นได้เพียงแค่ “ที่พักพิงทางอารมณ์จำแลง”) และยังแสดงให้เห็นด้วยว่าในระยะหลังเมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไปอารมณ์ความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญของ “ชนชั้นกลาง” ได้ขยายมาสู่วิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะ “รำคาญ” ชนชั้นกลางด้วยกัน แต่ยังรำคาญชนชั้นล่างและไม่ไว้วางใจหน่วยงานฝ่ายปกครองของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้หล่อหลอมระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางให้กลายเป็นคนที่โดดเดี่ยวอย่างมาก


     สำหรับอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับครอบครัวนั้น บทความ จากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์สู่ความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพ: อารมณ์ความรู้สึกและชีวิตครอบครัวของชนชั้นกลางไทยในทศวรรษ 2500-2530” ของ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ผู้เขียนใช้หลักฐานที่น่าสนใจในการแสดงให้เห็นภาพรวมของความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับ “ชีวิตครอบครัว” ทำให้เห็นว่าบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม ทำให้ขนาดของครอบครัวเล็กลง ชีวิตครอบครัวถูกปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงวิธีคิด อารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว ที่เปลี่ยนจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มาเป็นอารมณ์ความรู้สึกในเชิง “มิตรภาพ” ซึ่งมีลักษณะเสมอภาคมากขึ้น ทั้งระหว่างคู่รัก/สามี-ภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก และความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้อง นอกจากนี้ยังขยายไปสู่ลักษณะความสัมพันธ์อื่นๆ การแต่งงานและการดำเนินชีวิตครอบครัวด้วย “ความรัก-ความเข้าใจ” และ “มิตรภาพ” กลายเป็นอุดมคติที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตครอบครัวแบบใหม่ของชนชั้นกลางไทย แม้ว่าบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมจะทำให้การมีครอบครัวตามอุดมคติเป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม


บทความ “จักรวาลการบริโภคในบ้าน ความเปลี่ยนแปลงของรสนิยม ความงาม และอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวชนชั้นกลางไทย ทศวรรษ 2520-2540”” ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ แสดงให้เห็นลักษณะของ “ครอบครัวชนชั้นกลาง” ที่เปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ชีวิต รสนิยม และความงามในอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลาง โดยมองผ่านการขยายตัวของการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น บ้านจัดสรร สื่อโทรทัศน์ นิตยสาร การโฆษณา เพลง กล้องถ่ายรูป รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทความนี้จึงสะท้อนทั้งความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวชนชั้นกลางไทยและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยโดยรวม


บทความเรื่อง “ความรักและวิถีทางกามารมณ์ของชนชั้นกลางไทยในทศวรรษ 2540-2560” ของ อาณดา วิรมณรมิตา วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของความรักและวิถีทางกามารมณ์ของ “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเสนอว่าถึงแม้ “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” จะตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำตามระบบคุณค่าหรือบรรทัดฐานทางสังคมกระแสหลัก แต่พวกเขาก็ยึดโยงตัวเองเข้ากับระบบคุณค่าแบบใหม่ตาม ‘เครือข่าย’ หรือ ‘กลุ่ม’ ในพื้นที่ใหม่ของพวกเขาเอง กามารมณ์ของชนชั้นกลางรุ่นใหม่จึงเชื่อมโยงกับชุมชนทางอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายซ้อนทับกัน


บทความ ชนชั้นกลางไทยกับแนวคิดการพึ่งตนเอง ทศวรรษ 2540-2550” ของ ปราการ กลิ่นฟุ้ง สะท้อนให้เห็นทั้งระบบคุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกใหม่ของ “ชนชั้นกลาง” จำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความสุขจากการมีชีวิตอิสระ และสามารถพึ่งตนเองในระดับปัจเจกบุคคล แต่ในขณะเดียวกันก็หวนกลับไปหาอุดมคติของชีวิตที่เชื่อว่าเคยมีอยู่ในชนบท นั่นคือวิถีชีวิตที่สืบทอดวัฒนธรรมชุมชนและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งเห็นได้จากการท่องเที่ยว “ชุมชนพึ่งตนเอง” และบางคนถึงกับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบ “พึ่งตนเอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางอย่างมาก จนแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้หลายคนเลือกทำตามเพื่อกลับไปสู่วิถีชีวิตที่รู้สึกว่าถูกต้องดีงาม


นอกจากบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่าและระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย ..2500-2560” แล้ว มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้ ยังมีบทความอีก 2 เรื่องที่ผู้เขียนไม่ได้ร่วมอยู่ในโครงการวิจัยนี้ แต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบบคุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางเช่นกัน


บทความของ ตะวัน วรรณรัตน์ เรื่อง “อารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางต่อกรรมกร” เสนอว่าการรับรู้ตนเองของชนชั้นกลางและระบบคุณค่าที่ชนชั้นกลางยึดถือเป็นรากฐานของอารมณ์ความรู้สึกที่ชนชั้นกลางมีต่อ “กรรมกร” และสร้างความหมายของ “กรรมกร” ที่ส่งผลให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่กดทับกรรมกรอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตะวัน วิเคราะห์ว่าระบบคุณค่าของชนชั้นกลาง ได้แก่ คุณค่าในมิติความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตที่เกิดขึ้นจากความดี/เลวส่วนบุคคล คุณค่าในมิติความสะอาด สุขภาพอนามัย และรูปลักษณ์ทางกาย และคุณค่าในมิติทางเศรษฐศาสตร์ ระบบคุณค่าเหล่านี้หล่อหลอมอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางต่อกรรมกรจนกลายเป็นกรอบหรือโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของชนชั้นกลาง ที่ส่งผลต่อการผลิตซ้ำความหมายของ “กรรมกร” ตลอดมา แม้แต่ชนชั้นกลางที่มีความเห็นอกเห็นใจกรรมกร


บทความของ เอเชีย บินตอเล็บ เรื่อง “อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ในสังคมมุสลิมไทย เสนอคำอธิบายเพื่อเข้าใจความเป็นมาของ “ความเป็นมุสลิมแบบไทยๆ” โดยพิจารณาทั้งด้านที่เป็นปฏิบัติการของชนชั้นนำไทยและด้านที่เป็นปฏิบัติการของชาวมุสลิมเอง เอเซียวิเคราะห์ว่าชนชั้นนำไทยเน้นแนวคิด “พระบรมราชูปถัมภ์” เพื่อผนวกคนทุกกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติและทำให้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แผ่ขยายออกไปในราษฎรทุกหมู่เหล่า พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็น “องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก” ที่ทรงอุปถัมภ์ศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาอิสลาม มิใช่ให้ความสำคัญแต่เฉพาะพุทธศาสนาที่ผูกพันกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและ “ความเป็นไทย” แล้วเบียดขับศาสนาอื่นๆ ออกไป ในขณะเดียวกัน เอเซียก็พิจารณากระบวนการที่ฝ่ายมุสลิมตีความศาสนาอิสลามอย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” โดย “สถาบันจุฬาราชมนตรี” มีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นมุสลิมแบบไทยๆ” ที่ทำให้มุสลิมจำนวนมากผูกพันกับสถาบัน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

     บรรณาธิการหวังว่าความรู้ใหม่เกี่ยวกับ “ชนชั้นกลางไทย” ใน มนุษยศาสตร์สารฉบับเพิ่มเติม นี้
จะมีส่วนช่วยให้สังคมและวงวิชาการเข้าใจความซับซ้อนของ“ชนชั้นกลางไทย” มากขึ้น มองเห็นทั้งด้านที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมและด้านที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นมิติความคิด ระบบคุณค่า และ/หรืออารมณ์ความรู้สึกก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าความเข้าใจต่อ “ชนชั้นกลางไทย” ที่เพิ่มมากขึ้นย่อมหมายถึงความเข้าใจต่อสังคมไทยโดยรวมที่เพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อมองเห็นภาพรวมของสังคมไทยในมิติใหม่ๆ จนเข้าใจความหลากหลายและความซับซ้อนของสังคมไทยเพิ่มขึ้นแล้ว ก็หวังว่าจะประเมินทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนด “โครงการ” และ “แผนการ” ต่างๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชีวิตของบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในโลกที่มีพลวัตสูงจนทำให้คนทุกกลุ่มในสังคมไทยต้องการความรู้จากมุมมองใหม่ๆ ยิ่งกว่าในยุคใดๆ ที่ผ่านมา

Article Details

How to Cite
บรรณาธิการ. (2021). Editorial Article. Chiang Mai University Journal of Humanities, 22(-), 1–11. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/view/256082
Section
Editorial Article