Editorial Article

Main Article Content

Editor

Abstract

สวัสดีครับทุกท่าน


     ตั้งแต่วารสารได้ออกฉบับแรกของปีในเดือนเมษายนที่ผ่านมา วงวิชาการไทยเราได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยก็ 2 อย่าง อย่างแรกคือวิกฤติ COVID-19 ที่เริ่มมีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบัน สถานการณ์ในบ้านเราจะดูทรงตัวและควบคุมได้แล้ว วิกฤติดังกล่าวได้มีผลต่อการทำงานวิจัยของนักวิจัยหลายๆกลุ่มด้วยกันโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องมีการลงพื้นที่ หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้ข้อมูล นักวิจัยหลายคนต้องปรับแผนมาทำงานเชิงเอกสารและทฤษฎี (ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมนุษยศาสตร์หลายแขนงทำอยู่เช่นกัน) นี่ยังไม่นับการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยที่ต้องมีการหยุดชะงักออกไป


     อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติดังกล่าว เราก็ได้เห็นปรากฎการณ์ใหม่ของการทำงานวิจัยร่วมกันแบบข้ามสาขา ทั้งในและต่างประเทศ ทุนวิจัยและสนับสนุนกิจกรรมวิชาการเพื่อพัฒนาการป้องกัน การจัดการ และให้ความรู้เกี่ยวโรคระบาด ทำให้นักวิจัยหลายสาขา ได้คิดโจทย์วิจัยแบบข้ามสาขาและได้มาทำงานร่วมกันภายใต้ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่มีความมั่นคงทางสุขภาวะ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา King’s College ได้มีการรวบรวมงานนักวิจัยและวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 เพื่อให้เห็นบทบาทสำคัญของมนุษยศาสตร์ในวิกฤติดังกล่าวอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่มนุษยศาสตร์มีการพูดเรื่องการข้ามศาสตร์มานาน วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้เหมือนกับเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้นักวิชาการมนุษยศาสตร์ได้คิดถึง “นวัตกรรม” ใหม่ๆของความรู้และความยึดโยงของศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์กับสังคมร่วมสมัย


     อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในข่วงที่ผ่านมา คือการออกเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งวิชาการในประเทศไทยเราเองที่ทำให้วงวิชาการไม่เพียงแค่มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สะเทือน แต่รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ด้วย ในมุมมองของผมเอง ประเด็นที่น่าสนใจของเกณฑ์ใหม่นี้มี 2 อย่างด้วยกัน คือ การพยายามสร้าง “fast track” ในการขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ขึ้นมา ที่ไม่ต้องให้กรรมการของมหาวิทยาลัยหาผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินผลงานของผู้ส่งขอตำแหน่ง


     ในมุมหนึ่งอาจจะดูว่าดี แต่หากเข้าไปดูประเภทของงานที่ผู้ขอจะต้องยื่นสำหรับ “fast track” แล้ว คิดว่านักวิจัยหลายๆท่าน (แม้แต่ในสายวิทยาศาสตร์) ก็อาจจะไม่ได้ “fast” ซักเท่าไหร่ เนื่องจากจำนวนและความ “ฮิต” ของผลงานจะต้องมีจำนวนที่สูงมาก ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะกลับไปสนับสนุน “ระบบอุปถัมภ์” ที่มีอยู่ก่อนแล้วในการทำงานวิจัยระหว่างระหว่างนักวิจัยเจ้าของโครงการ นักวิจัยร่วมโครงการ และนักศึกษาบัณฑิตในโครงการหรือไม่ อารมณ์แบบ “มีความจำเป็น” ต้อง “ช่วยกัน cite กันไปมา” โดยอาจจะไม่คำนึงถึงความเกี่ยวข้องที่แท้จริงนั่นแหละครับ


     ที่น่าจะหนักข้อที่สุดสำหรับสายมนุษยศาสตร์เห็นว่าจะเป็นเกณฑ์การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ เนื่องจากเกณฑ์ใหม่ได้ปิดประตูแก่ผู้ที่ไม่ทำงานในระดับนานาชาติแบบสนิทเลย ผมเข้าใจดีถึงการที่กระทรวงฯต้องการผลักดันวงวิชาการไทยทั้งองคาพยพให้มีศักยภาพที่จะเป็น “ผู้เล่น” ในระดับนานาขาติดังเช่นที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย แน่นอนที่สุดการผลักดันดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีงานวิชาการคุณภาพที่เขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้มีผู้อ่านระดับนานาชาติได้อ่านและนำไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าการใช้เกณฑ์ดังกล่าวมาประเมินทุกวงวิชาการว่าผู้ใดควรได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ อาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับนักวิชาการในสายมนุษยศาสตร์ที่ทำงานด้านภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ที่ในชีวิตความก้าวหน้าทางวิชาการของเขาอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องเขียนงานวิจัยเพื่อลง “วารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด” (ซึ่งเป็นฐานของโลกภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น SCOPUS, ISI, หรือ JSTOR) นักวิชาการด้านภาษาจีนที่ชั่วชีวิตของเขาเขียนงานเพื่อสื่อสารกับโลกวิชาการภาษาจีน อาจจะตีพิมพ์บทความลงในวารสารในประเทศจีน (ซึ่งมีจำนวนที่เยอะมาก) มาตลอด แต่หากวารสารกลุ่มดังกล่าวไม่ได้อยู่ในฐานโลกภาษาอังกฤษแบบ SCOPUS, ISI, หรือ JSTOR ความเชี่ยวชาญของเขาไม่มีสิทธิจะได้รับการขอรับการกำหนดตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์หรือ?


     และนี่ยังไม่ได้กล่าวถึงอาจารย์ด้านภาษาไทยเก่งๆ อีกหลายท่านนะครับ (ที่อาจจะสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ดีด้วย) เพราะเกณฑ์นี้ก็จะไม่อยากทำให้นักวิชาการภาษาไทยไม่อยากเขียนงานภาษาไทยให้นักศึกษาไทยอีกต่อไป เพราะต้องเอาเวลาไปเขียนเพื่อผู้อ่านภาษาอังกฤษเป็นหลัก ขอย้ำอีกครั้ง ผมไม่ได้ต้องการจะเป็นชาตินิยมที่ต่อต้านการเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ จริง ๆ แล้วผมสนับสนุนเสียด้วยซ้ำให้นักวิชาการไทย (ที่เขียนภาษาอังกฤษได้) ผลิตองค์ความรู้ที่สร้างบทสนทนากับนักวิชาการระดับนานาชาติ แต่การเอา “ความฝันที่อยาก go inter” ของกลุ่มนักพัฒนาอุดมศึกษาไทยที่คิดว่าการทำงานในโลกวิชาการมีอยู่วิธีเดียว (Introduction/Literature Review/Methodology/Findings พร้อม ตารางรัวๆ/Discussion ซึ่งหลังๆ ผมก็ไม่เห็นไม่ค่อยจะ discuss อะไรมาก/Conclusion) มาใช้เป็นเกณฑ์ครอบจักรวาลกับทุกอย่าง รวมถึงการกำหนดวิชาการระดับศาสตราจารย์ ทั้งๆ ที่วงวิชาการไทยยังใช้ภาษาไทยสอนหนังสือเป็นหลักอยู่ ผมว่ามันดู “ไม่สมประกอบ” และ “ตัดโอกาสความก้าวหน้าทางวิชาการ” ของคนกลุ่มหนึ่งไปโดยปริยาย หากผู้อ่านท่านใดที่พอจะมีโอกาสได้ส่งเสียงไปถึงคณะกรรมการพิจารณาเกณฑ์กำหนดตำแหน่ง ก็ขอฝากข้อความของผมไปหน่อย ผมคิดว่าชาวมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไม่ควรจะเป็นแต่ “ฝ่ายรับ” ในเรื่องนี้ครับ


          สำหรับบทความที่ลงพิมพ์ในฉบับนี้ ผมคิดว่าหลายๆ บทความมีความ “ปังปุริเย่” อยู่ในหลายๆ ด้าน ยังไงขอให้ผู้อ่านทุกท่านดาวน์โหลดไปอ่านและนำไปอ้างอิงกันอย่างเพลิดเพลินเจริญใจครับ

Article Details

How to Cite
Editor. (2020). Editorial Article. Chiang Mai University Journal of Humanities, 21(2), 1–8. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/view/246377
Section
Editorial Article