Editorial Article

Main Article Content

Editor -

Abstract

ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีท่านผู้อ่านและท่านผู้เขียนบทความของวารสารมนุษยศาสตร์สารทุกท่าน ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ดูแลเป็นบรรณาธิการ ต่อจาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีรวรรณ วงศ์ปิ่นเพ็ชร์ ทางผมต้องขอขอบคุณท่านอดีตบรรณาธิการและกองบรรณาธิการชุดก่อน ที่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมในการรักษามาตรฐานวารสาร “มนุษยศาสตร์สาร” ให้อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับของวงวิชาการในประเทศไทย และ
หวังว่าในอนาคต “ไม้” ที่ถูกส่งต่อมาให้ผม จะยิ่งมีความแข็งแรงและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากท่านผู้อ่านและผู้เขียนมีติชมหรือข้อเสนอแนะประการใด สามารถส่งข้อความมาแจ้งให้ทางผู้จัดการวารสารตามอีเมล์ของวารสารได้ ผมและทีมงานผู้จัดทำยินดีรับฟังเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป


      ในช่วงหลายปีมานี้ มีการพูดคุยกันอยู่ค่อนข้างหนาหูในวงวิชาการและภาครัฐว่าถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยไทยจะต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับโครงสร้างการผลิตของประเทศและ
ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ทุกภาคส่วนหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ คำถามที่ทางคณะมักจะได้ยินมาเสมอคือ “มนุษยศาสตร์” (ซึ่งเดิมทีเป็นการเรียนในวิชาต่างๆเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์) จะยืนอยู่ตรงไหน หรือจะมีบทบาทอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้คนในแวดวงธุรกิจหลายรายแสดงความเป็นห่วงว่ามนุษยศาสตร์ (โดยเฉพาะกลุ่มวิชาภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม) จะ “ไปรอด” ไหม ในยุคสมัยที่อินเทอร์เนตและปัญญาประดิษฐ์สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ดีพอๆกับ (หรือมากกว่า?) การเรียนในห้องเรียน


      ในความคิดของผมเองนั้น ผมไม่ค่อยจะเป็นห่วงเท่าไหร่นัก อันที่จริงในยุคสมัยปัจจุบันที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีบทบาทกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้นๆ มนุษยศาสตร์ยิ่งเป็นวิชาที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจความเป็นมนุษย์ในแบบใหม่ ทฤษฎี ข้อมูล หรือผลวิจัยบางอย่าง อาจจะต้องถูกนำมาปัดฝุ่นและตั้งคำถามใหม่ในบริบทใหม่ ที่ความเป็นมนุษย์กับความเป็นเทคโนโลยียากที่จะแยกออกจากกันได้ชัดเจน และที่กล่าวมานี้ยังไม่นับสาขาวิชาบางสาขาในมนุษยศาสตร์ที่ยิ่งกลายเป็นวิชาที่มีความสำคัญกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี เช่น วิชาภาษาศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นวิชาที่มีประโยชน์กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือวิชาจิตวิทยา ที่มีบทบาทอย่างมากในการศึกษาจิตและใจของผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ หรือวิชาปรัชญากำลังเข้าไปมีบทบาทในการอธิบายเรื่องจริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี กล่าวโดยสรุปก็คือ “มนุษยศาสตร์” มีภาระกิจที่สำคัญยิ่งไปมากกว่าเดิมในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเลข
“1 และ 0” และปัญญาประดิษฐ์


      ในบทบรรณาธิการฉบับนี้ ผมต้องขออนุญาตไม่สรุปว่าบทความที่อยู่ในวารสารฉบับนี้คืออะไรบ้างเนื่องจากพื้นที่มีจำกัด และผมก็อยากจะเล่าถึงความคิดของผมเกี่ยวกับงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันและอนาคตมากกว่า เผื่อว่าจะสามารถไปจุดประกายผู้อ่านได้ลองนึกถึงโจทย์วิจัยสนุกๆ และมีความท้าทายกับการเปลี่ยนของสังคมและการเรียนการสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์


      ขอให้ท่านผู้อ่านพบแต่ความสุขความเจริญ และมีจิตใจผ่องใส สวัสดีปีใหม่ครับ

Article Details

How to Cite
-, E. (2019). Editorial Article. Chiang Mai University Journal of Humanities, 20(3), 1–10. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/view/232787
Section
Editorial Article