ปัญหาของประเทศและทางออก: ทัศนะของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้ได้นำเอาชุดแนวความคิดของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร มาศึกษาและพบว่าจุดเน้นอันสำคัญของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร นั่นก็คือเรื่อง “การกสิกรรม” ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหาชาวจีนอพยพเข้ามาสยามในยุครัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถานการณ์โลกที่กำลังหมุนไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ อันเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมและอันตรายต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างยิ่ง ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ซึ่งถือว่าเป็น “เจ้านาย” แต่ทรงเป็นเจ้านายที่แปลกประหลาดในยุคจารีตเพราะทรงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเพื่อออกไปทำฟาร์ม แต่ทว่าการลาออกนี้มิได้เป็นการยุติบทบาททางการเมือง แต่กลับเป็นโอกาสในการผลักดันและเสนอความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เป้าหมายที่เห็นว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ นอกจากจะเสนอความคิดสำคัญๆ ผ่านหนังสือพิมพ์ “กสิกร” แล้ว พระองค์ยังได้ทรงอุทิศตนต่องานด้านการเกษตรอย่างยิ่ง อันถือว่าเป็นคุณูปการต่อประเทศสยามในช่วงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทัศนะของพระองค์ต่อการเกษตรกรรมและบทบาทของพระองค์ในเรื่องนี้ มิได้ปลอดจาก “การเมือง” แต่กลับผูกพันอย่างแนบแน่นกับเป้าหมายทางการเมืองของพระองค์ นอกจากการเสนอความคิดผ่านหนังสือพิมพ์ “กสิกร” บทบาทอีกด้านของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร คือดำรงตำแหน่งกรรมการองคมนตรี ซึ่งพระองค์ทรงมีบทบาทอย่างยิ่งในการเสนอความคิดเห็น ซึ่งมีลักษณะไปในแนวทาง “ก้าวหน้า” และพยายามหาทางออกให้แก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา ประกอบกับเสียงเรียกร้องของราษฎรให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จึงเลือกเสนอความคิดออกมาเพื่อมิให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์