การเคลื่อนย้ายของแรงงานทำไม้ชาวขมุ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศของสยามในดินแดนล้านนา ระหว่าง ค.ศ.1893-1907
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้ เป็นการศึกษาเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายของชาวขมุจากหลวงพระบางที่เข้ามารับจ้างเป็นแรงงานทำไม้ในดินแดนล้านนา ระหว่าง ปี ค.ศ.1893 ถึง ค.ศ.1907 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ จักรวรรดินิยมอังกฤษ ฝรั่งเศส และสยาม ต่างหยิบยกเอาสถานการณ์ดังกล่าว มาเป็นประเด็นเจรจาต่อรองทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน จากการศึกษาพบว่า นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวขมุจากหลวงพระบาง ดินแดนในอาณานิคมของฝรั่งเศส นับเป็นแรงงานกลุ่มหลักที่เข้ามารับจ้างทำไม้ในดินแดนล้านนาของสยาม ทั้งยังเป็นแรงงานสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจการอันเป็นผลประโยชน์ของอังกฤษ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของแรงงานชาวขมุจึงถูกทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ จนเกิดการเจรจาต่อรองหลายครั้ง กระทั่งได้ข้อยุติในปี ค.ศ.1907 กล่าวได้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับชาวขมุ นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการริเริ่มแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของสยาม และช่วยยุติข้อพิพาทระหว่างฝรั่งเศสและสยามบนดินแดนล้านนาได้สำเร็จ หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง แรงงานชาวขมุยังคงเป็นที่ต้องการสำหรับกิจการสัมปทานป่าไม้สักอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นแรงงานเสรีจากภายนอกที่มีบทบาทสำคัญสุดต่อการขับเคลื่อนกิจการแบบทุนนิยมตะวันตก ให้ดำเนินต่อไปได้ในยุคที่เศรษฐกิจ-สังคมของดินแดนล้านนากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยใหม่