พันธกิจนักประพันธ์ในพื้นที่ออนไลน์ กรณีศึกษาการเล่าเรื่องผ่านภาษาของวินทร์ เลียววาริณ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เนื้อหา และการเล่าเรื่องผ่านภาษาของวินทร์
เลียววาริณใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ “วินทร์ เลียววาริณ” เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม
พ.ศ. 2559 - มกราคม พ.ศ. 2560 จำนวน 356 เรื่อง โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่ององค์ประกอบของเรื่องเล่า กลวิธีการประพันธ์ วรรณกรรมกับสังคม และเว็บ 2.0 ผลการศึกษาพบว่า วินทร์
เลียววาริณ ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ของนักเขียน ด้วยหตุผล 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การสร้างสรรค์เรื่องเล่าที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มผู้อ่าน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลได้แก่ การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนชีวิต การสร้างทัศนคติเชิงบวกและการเห็นคุณค่าของตนเอง และเรื่องที่เป็นกระแสอันส่งผลต่อจิตใจของกลุ่มผู้อ่าน ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ประการที่สอง การเล่าเรื่องผ่านภาษาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้อ่านในสื่อออนไลน์ที่นิยมอ่านข้อความขนาดสั้น เขียนด้วยภาษาที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมและกระตุ้นให้เกิดความคิด ทั้งนี้ได้ใช้จำนวนการกดไลก์ (like) และการแสดงความเห็นโต้ตอบเป็นตัวชี้วัดความนิยมดังกล่าว
จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างพบว่า “เรื่องเล่า”ของวินทร์ เลียววาริณ มีลักษณะเป็นข้อเขียนขนาดสั้นไม่เกิน 100 คำ ขนาดกลาง ความยาว 101-400 คำ และขนาดยาวตั้งแต่
401 คำ เรื่องเล่าทั้งหมดนี้มุ่งนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และสังคมไทยในมิติต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายของผู้เขียน 9 ลักษณะ เรียงตามลำดับความถี่ ได้แก่ 1. การชี้นำ 2. การบอกกล่าวหรือเล่าเรื่อง 3. การให้ความรู้ 4. การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงทรรศนะ 5. การโฆษณา
6. การชี้แจงหรือให้คำแนะนำ 7. การเสียดสี 8. การเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ และ 9. การอวยพร โดยวินทร์ เลียววาริณ มุ่งนำเสนอแนวคิดในด้านการดำเนินชีวิต 6 ประเด็น เรียงตามลำดับตามความถี่ ได้แก่ 1. การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนการใช้ชีวิต 2. การสร้างทัศนคติเชิงบวกและการเห็นคุณค่าในตนเอง 3. หน้าที่การงานและการประกอบอาชีพ 4. ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน
5. ความรัก การเลือกคู่ครองและชีวิตสมรส 6. พิษภัยจากอบายมุข และแนวคิดด้านสังคม เรียงตามลำดับความถี่ ได้แก่ 1. สถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การอยู่ร่วมกันในสังคม 3. วัตถุนิยมและบริโภคนิยมในสังคมไทย 4. ศาสนา กับการเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ 5. จุดอ่อนในระบบการศึกษา และ 6. ประเทศไทยกับการคอร์รัปชัน สำหรับการเล่าเรื่องผ่านภาษาแบบต่างๆ ได้แก่ 1. การเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน 2. การเปรียบเทียบ 3. การอ้างถึงหรือการพาดพิง 4. การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงทรรศนะ 5. การสร้างความขบขัน 6. การกำหนดความสั้นยาวของเนื้อหา 7. การใช้ภาพประกอบเรื่องเล่า และ 8. การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน เรื่องเล่าออนไลน์ของวินทร์ เลียววาริณ แสดงให้เห็นพันธกิจนักประพันธ์ 4 ประการ ได้แก่ 1. การนำเสนอและวิพากษ์ปัญหาสังคม ในประเด็นปัญหาการเมืองไทยและการคอร์รัปชั่น ปัญหาด้านระบบการศึกษาและกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และปัญหาด้านความเชื่อและองค์กรทางศาสนา
2. การถ่ายทอดหลักการดำเนินชีวิต 3. การชี้นำสังคมและถ่ายทอดหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม และ 4. การเชิดชูคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ อิทธิพลของภูมิหลังผู้เขียนและพื้นที่ถ่ายทอดวรรณกรรม ยังส่งผลต่อการนำเสนอเรื่องเล่าออนไลน์ ได้แก่ การนำความรู้และประสบการณ์มาเป็นวัตถุดิบการสร้างสรรค์เรื่อง การนำจุดแข็งของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มานำเสนอให้กลมกลืนกับบริบทสังคมยุคใหม่ การเลือกและตัดตอนผลงานตีพิมพ์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมและพื้นที่ถ่ายทอดวรรณกรรมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ถ่ายทอดวรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ ให้เป็นพื้นที่เปิดโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านออนไลน์