การใช้ประโยชน์พื้นที่ในอาคาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2555

Authors

  • ชฎาพร ประสพถิ่น คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • เอมอร พิทยายน บรรณารักษ์ (ผู้ชำนาญการพิเศษ) หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

Abstract

งานวิจัยเรื่องนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการใช้พื้นที่ จำนวน 4 อาคาร ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์    ตามอัตราการใช้ประโยชน์พื้นที่ (เพื่อการเรียนการสอน  การบริการ  การบริหาร  และการสัญจร)   และศึกษาอัตราการใช้ห้อง  (จากจำนวนชั่วโมงที่มีการใช้ห้องบรรยาย และห้องปฏิบัติการ)  รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคาร  ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ กับประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคาร ของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีบริบทด้านการเรียนการสอนใกล้เคียงกัน และมีรายงานผลการศึกษาด้านการใช้พื้นที่เผยแพร่แล้ว 3 มหาวิทยาลัย โดยวิเคราะห์ข้อมูลตามเกณฑ์มาตรฐานประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์อาคารของสถาบันอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2556  สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ สูตรคำนวณประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ

ผลการวิจัยพบว่า ทั้ง 4 อาคารของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์  มีพื้นที่ใช้ประโยชน์รวมทั้งหมด 31,794.00  ตารางเมตร  มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการบริการ สูงสุด ร้อยละ 46.00   รองลงมาคือใช้เพื่อการสัญจร ร้อยละ 22.78  ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้เพื่อการเรียนการสอน ร้อยละ 22.02      และใช้เพื่อการบริหาร น้อยที่สุด ร้อยละ 9.19  เมื่อเปรียบเทียบผลการใช้ห้องบรรยายของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์กับมหาวิทยาลัยอื่น พบว่า คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในอาคาร สูงที่สุด คือร้อยละ 73.92  รองลงมาคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร้อยละ 62.78  ตามด้วยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีร้อยละ 31.40 และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นน้อยที่สุดร้อยละ 13.19  และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรวมประสิทธิภาพการใช้ห้องบรรยาย ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ที่มีการใช้ร้อยละ 32.33   กับค่าเฉลี่ยรวมประสิทธิภาพการใช้ห้องบรรยาย ของทุกมหาวิทยาลัย ที่มีการใช้ร้อยละ 15.99  พบว่าคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มีประสิทธิภาพการใช้ห้องบรรยาย มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ร้อยละ 16.35  เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรวมประสิทธิภาพการใช้ห้องปฏิบัติการของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ที่ได้ร้อยละ 30.27  กับค่าเฉลี่ยรวมประสิทธิภาพการใช้ห้องปฏิบัติการ ของทุกมหาวิทยาลัย ที่ได้ร้อยละ 39.89 พบว่าคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรกรศาสตร์ มีประสิทธิภาพการใช้ห้องปฏิบัติการ น้อยกว่า มหาวิทยาลัยอื่น ร้อยละ 9.62

Downloads

Published

2017-08-09