การวิเคราะห์จำนวนวันนอน ค่าเสียโอกาส และคุณภาพการดูแล ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Authors

  • วรณัน ประสารอธิคม งานบริหารทรัพยากรสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • ธันย์ สุภัทรพันธ์ รองศาสตราจารย์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • หทัยกร กิตติมานนท์ งานบริหารทรัพยากรสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Abstract

จำนวนวันนอนเป็นตัวชี้วัดการบริหารโรงพยาบาล เพราะมีความสำคัญต่ออัตราการหมุนเวียนเตียงที่มีอยู่จำกัด ถ้าลดจำนวนวันนอนที่ไม่จำเป็นลงได้จะสามารถรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ วิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์จำนวนวันนอน และคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม  เป็นการศึกษาย้อนหลังและวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเลือกตัวอย่างแบบเจาะจงคือ ข้อมูลผู้ป่วยภาควิชาออร์โธปิดิกส์ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 จำนวน 260 ราย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 94 เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 68 ปี จำนวนวันนอนอยู่ระหว่าง 4-15 วัน ผู้ป่วยที่ภาวะแทรกซ้อนไม่รุนแรงร้อยละ 65 มีค่าเฉลี่ยจำนวนวันนอน 6 วันเท่ากับที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คำนวณค่าเสียโอกาสได้ 1,536,059 บาท จากจำนวนเตียงว่างที่เพิ่มขึ้น 90 วัน (Extra bed days) ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเมื่อจำหน่ายและไม่มีการกลับมานอนโรงพยาบาลโดยไม่ได้วางแผนภายใน 28 วันด้วยโรคเดิม ประเภทของผู้ป่วย และภาวะแทรกซ้อนมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 สรุปในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมยังมีการผันแปรของจำนวนวันนอน ผู้ป่วยพิเศษและผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมีจำนวนวันนอนมากกว่าผู้ป่วยสามัญและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นควรใช้แนวปฏิบัติฯเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยทุกรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และควรมีการศึกษาติดตามการผันแปรของจำนวนวันนอนในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงแนวปฏิบัติให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

Downloads

Published

2017-07-09