Editorial

Authors

  • Asst.Prof.Dr.Poonsit Hiransai

Abstract

เรียน ท่านผู้อ่านและผู้ติดตามวารสารทุกท่าน

   ในช่วง 6 เดือนนี้ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๓) เชื่อว่าคงไม่มีเรื่องใดเป็นที่สนใจไปมากกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ ๒๐๑๙ (COVID-19) ซึ่งถูกยกระดับจากการระบาดเฉพาะพื้นที่ไปเป็นการระบาดระดับประชาคมโลก ผลกระทบจากสภาวะการระบาดทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคเป็นระยะๆ เช่น มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distances) โดยมาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน การคมนาคม การขนส่ง และเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการศึกษา โดยรัฐบาลกำหนดมาตรการการจัดการเรียนการสอนที่บ้านโดยใช้ระบบการสอนแบบออนไลน์ในทุกระดับการศึกษา

   การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล (Digital Disruptive Era) เกิดจากการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ เช่น การสร้างและพัฒนาระบบบริหารการจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) การวางระบบที่ตอบสนองผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-paced learning) การใช้เทคโนโลยีสื่อผสม (Multimedia Technology) ในรูปแบบต่างๆ มาประกอบการเรียนรู้
ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาหลายๆ ท่านอาจจะมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีผลในแง่บวก ในขณะที่บางท่านอาจมองในแง่ลบ ซึ่งสิ่งที่แต่ละท่านกังวลส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผลลัพธ์การเรียนรู้และความพร้อมของสภาพแวดล้อม เช่น ความรู้ของผู้สอนในการเตรียมแผนการจัดการเรียนรู้ การสนับสนุนของระบบเครือข่ายที่จะนำมาใช้ เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ของผู้เรียน
และความรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นผลพวงที่เชื่อมโยงมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละบุคคล ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เท่าเทียมกันได้ในเร็ววัน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงเวลากระชั้นชิดของการแพร่ระบาดดังกล่าว จึงเหมือนเป็นสถานการณ์บังคับให้ดำเนินการภายใต้ความพร้อมในระดับจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของ “ผู้เรียนในยุคโควิด-๑๙” ก็คงต้องรอดูกันต่อไปในระยะยาว

สำหรับในฐานะวารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมและเสนอบทความวิจัยและบทความวิชาการที่มีเนื้อหาสาระส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้วยแนวคิดต่างๆ ประกอบด้วย แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้สถานที่เป็นฐาน (Place-based Learning) แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา (Content and Language-integrated Learning) เทคนิคการจัดการเรียนแบบร่วมมือ (Learning Together Technique) เทคนิคการใช้ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) นอกจากนี้ยังนำเสนอการพัฒนาสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ
รวมไปถึงการวิจัยสถาบันที่แสดงถึงผลตอบรับของผู้เรียนต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียน
การสอนในลำดับถัดไป

สุดท้ายนี้ บรรณาธิการขอขอบพระคุณนักวิชาการทุกท่านที่ร่วมส่งผลงานเผยแพร่ในวารสาร และผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน
ที่ยินดีตอบรับเป็นกองบรรณาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความของวารสาร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะให้
การสนับสนุนการดำเนินงานวารสารในฉบับต่อๆ ไป

ขอบพระคุณครับ

Downloads

Published

2020-06-22

How to Cite

Hiransai, A. . (2020). Editorial. Walailak Journal of Learning Innovations, 6(1), -. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jliwu/article/view/244162