ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช

Main Article Content

วจินี จงจิตร

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) โดยใช้วิธีการสำรวจแบบภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Survey) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ลักษณะส่วนบุคคล ความรู้ เจตคติและพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2) ระดับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ เจตคติและพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล     กับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ และ 4) ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล


กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ จำนวน 154 คน จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 251 แห่ง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบไคสแควร์และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน  


ผลการศึกษา พบว่า 1) การมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ อยู่ในระดับมาก 2) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีความรู้ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ ในระดับสูง มีเจตคติทางบวกต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ   และมีพฤติกรรมในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นไปในทางบวก 3) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ ส่วนการได้รับการอบรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ ประสบการณ์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ ความรู้ เจตคติต่อการปฏิบัติงานและพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน  มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 4) ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพล่าช้าเกินไป และขาดความรู้และทักษะในการทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ จึงมีข้อเสนอแนะคือ ควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ และพัฒนาความรู้และทักษะในการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ

Article Details

How to Cite
[1]
จงจิตร ว., “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช”, ้่j of human, ปี 11, ฉบับที่ 1, น. 45–64, ก.ย. 2021.
บท
บทความวิชาการและบทความวิจัย

References

กระทรวงสาธารณสุข. 2561. แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (พ.ศ. 2560 – 2579).
นนทบุรี: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2559. ทิศทางและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช. 2560. ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบสุขภาพปี พ.ศ. 2560 –
2564. กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช.
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.2559. จุดยืน วิสัยทัศน์ พันธกิจ
เป้าหมาย ค่านิยม และยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข. นนทบุรี.