นางร้ายในลงกา: ความเป็นหญิง ความชอบธรรม ความกำกวม

Authors

  • ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ประธานหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปการละคร, ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Keywords:

การเขียนบทละคร, รามเกียรติ์, มายาคติ, ความเป็นหญิง, ละครหลังข่าวของไทย, Playwriting, Ramakien, Myth, Femininity, Thai soap opera

Abstract

งานวิจัยสร้างสรรค์เรื่อง นางร้ายในลงกา: ความเป็นหญิง ความชอบธรรม ความกำกวม เป็นงานวิจัยหนึ่งในสี่เรื่องในโครงการ “รามเกียรติ์: ก้าวหน้าจากรากแก้ว” ในงานวิจัยสร้างสรรค์นี้ ผู้วิจัยศึกษาการสร้างบทละคร โดยตั้งต้นจากการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและกระบวนการการนำเสนออัตลักษณ์ของนางเอกในละครโทรทัศน์ไทยในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับตัวละครผู้หญิงสามตัวในรามเกียรติ์ ได้แก่ มณโฑ สุวรรณกันยุมาและเบญกาย แนวคิดหลักที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อสร้างบทละครเรื่อง นางร้ายในลงกา คือ แนวคิดเรื่องมายาคติ เพื่อทำ การรื้อสร้างรูปแบบการนำเสนอตัวละครผู้หญิงในละครโทรทัศน์ ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงไทยใช้หลีกหนีความจริงไปสู่โลกอุดมคติ แล้วนำสิ่งที่ได้จากการรื้อสร้างมาประกอบสร้างใหม่เป็นบทละครเวทีซึ่งมุ่งนำเสนอให้ผู้ชมตระหนักถึงการสร้างมายาคติของความเป็นนางเอกผ่านสื่อละครโทรทัศน์ ในบทละครนี้ ผู้วิจัยตั้งคำถามกับความชอบธรรมของความรุนแรง การแก้แค้น และจุดจบของตัวละครผู้หญิงในแบบที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามกับรูปแบบและความหมายของ “คุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นหญิง” ที่ละครโทรทัศน์ได้ทำการผลิตซ้ำให้กับผู้ชม

ผู้วิจัยตั้งสมมุติฐานว่า บทละครที่สร้างโดยมุ่งเปิดเผยให้ผู้ชมเห็นกระบวนการสร้างมายาคติความเป็นนางเอกในละครโทรทัศน์ไทยปัจจุบัน น่าจะทำให้ผู้ชมไทยร่วมสมัยได้ตระหนักถึงประเด็นที่ถูกนำเสนอผ่านละครตัวละครนางเอกในโทรทัศน์เรื่องการทับซ้อนระหว่างการเลือกกระทำใน “สิ่งที่ถูกต้อง” ตามหลักคุณธรรมกับการ “เลือกอย่างถูกต้อง” ในการเข้าข้างฝ่ายที่จะชนะและสิ่งใดคือจริยธรรมที่ผู้ชมรวมถึงคนในสังคมปัจจุบันมองว่าเป็นการกระทำที่มีความชอบธรรม ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามกับรูปแบบและความหมายของ “คุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นหญิง” ที่ละครโทรทัศน์ได้ทำการผลิตซ้ำให้กับผู้ชมชาวไทย

ผู้วิจัยสร้างบทละคร นางร้ายในลงกา ในรูปแบบของละครซ้อนละคร โดยแบ่งตัวเรื่องออกเป็นสองเส้นเรื่อง เส้นหลักเป็นเรื่องของคณะผู้จัดละครโทรทัศน์ที่ต้องสร้างบทละครที่ดัดแปลงมาจากช่วงหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ อีกเส้นเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของตัวละครผู้หญิงสามตัวจากเรื่องรามเกียรติ์ที่เล่าเรื่องที่จะใช้สำหรับการจับระบำฟ้อนเส้นเรื่องรองนี้ทำหน้าที่ทั้งสนับสนุนและตั้งคำถามกับเส้นเรื่องหลัก โดยรูปแบบโครงเรื่องของทั้งสองเส้นเรื่องมีความกำกวมและทับซ้อนซึ่งกันและกัน เพื่อตั้งคำถามกับผู้ชมว่า ใครที่เป็นผู้เล่าเรื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อตั้งคำถามกับจริยธรรมการเป็น “ผู้เล่า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทการเป็นผู้เล่าของสื่อในสังคมปัจจุบัน

ในกระบวนการพัฒนาบทละคร ผู้วิจัยได้นำบทละครซ้อนละครที่สร้างสรรค์จากการศึกษาวิเคราะห์ ไปสร้างเป็นการแสดงร่วมกับคณะละครแปดคูณแปดเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้กำกับและนักแสดง จากนั้นจึงได้ทำการนำเสนอบทละครผ่านการแสดงซึ่งอยู่ในกระบวนการพัฒนาสร้างสรรค์เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ชม บทละครมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงในการนำเสนอการอ่านบทเมื่อวันที่ 23-26 กันยายน 2554 ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการสนทนาหลังจบการแสดงร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสายวิชาการ สายวิชาชีพ และผู้ชมทั่วไป

 

Femmes Fatales of Lanka: Uncovering Discourses on Female Identity in Thai Soap Operas

Parida Manomaiphibul

Chair of Graduate Program, Department of Dramatic Arts, Faculty of Arts, Chulalongkorn University

This is a research through practice focusing on how to use playwriting to investigate the gender discourses that significantly affect the identity of Thai women in today’s society, and how the myth of femininity has been constructed as reflected in Thai soap operas.  Through the process of writing the play Femmes Fatales of Lanka, this research aims to investigate how to produce a play that can put across an awareness of the myth of femininity in Thai patriarchal society to the audience.  Female characters from Thailand’s national epic Ramakien as well as from popular Thai soap operas have been used as sources of investigation.  Through soap operas, although it seems that Thai women are being assured that in this modernised society, they own rights and it is righteous to fight for their independence, practically they are still expected and unconsciously choose to be compliant to men just like in the past.  The confusion of Thai women whose lives are bound with contradictory values between traditional norms and a modernised life style are illuminated in the play in order to question Thai women’s identity and their position in the society. Whereas soap operas seem to portray the image of strong modernised Thai women, it can be said that soap operas do not present who Thai women actually are, nor who Thai women wish to be, but whom Thai women should wish they could be, to be in proper positions set by the patriarchal society.

Downloads

How to Cite

มโนมัยพิบูลย์ ป. (2016). นางร้ายในลงกา: ความเป็นหญิง ความชอบธรรม ความกำกวม. Journal of Letters, 44(1), 91–133. Retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jletters/article/view/48869