การประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามุกดาหาร
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล, ความต้องการจำเป็น, ผู้บริหารโรงเรียนบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) ศึกษาสภาพที่เป็นจริง และสภาพที่ควรจะเป็นของภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล 2) ประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลและ 3) เสนอแนวทางพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหารโรงเรียนและครูในโรงเรียนสังกัด สพม.มุกดาหาร ปีการศึกษา 2565 จำนวน 313 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ โดยมีค่าความสอดคล้อง 0.80-1.00 ค่าอำนาจจำแนกของสภาพที่เป็นจริงระหว่าง 0.61-0.77 ค่าอำนาจจำแนกของสภาพที่ควรจะเป็นระหว่าง 0.61-0.84 ค่าความเชื่อมั่นของสภาพที่เป็นจริงมี 0.94 และค่าความเชื่อมั่นของสภาพที่ควรจะเป็น 0.97 และ 2) แบบสอบถามแนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารโรงเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ ค่า PNI
ผลการวิจัย พบว่า 1.สภาพที่เป็นจริงเกี่ยวกับภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล โดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.66 มีค่า S.D เท่ากับ 0.02 ส่วนระดับสภาพที่ควรจะเป็นโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.64 มีค่า S.D เท่ากับ 0.03 2. ผลการประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล พบว่า มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาด้านการมีความรู้ด้านดิจิทัลเป็นลำดับแรก (PNI = 0.57) รองลงมาคือ ด้านการมีวิสัยทัศน์ (PNI = 0.50) ด้านการสื่อสาร(PNI = 0.30) และด้านการพัฒนาตนเอง (PNI= 0.14 ) 3.แนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล มี 3 ด้าน คือ ด้านการมีความรู้ด้านดิจิทัล ด้านการมีวิสัยทัศน์และด้านการสื่อสาร