โมเดลสมการโครงสร้างพฤติกรรมการปรับตัวของอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ชาวเมียนมา ในจังหวัดสมุทรสาคร ต่อสถานการณ์โควิด-19

ผู้แต่ง

  • นราเขต ยิ้มสุข ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ, พฤติกรรมการปรับตัว, สมการโครงสร้างเชิงเส้น

บทคัดย่อ

          บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบสมการโครงสร้างพฤติกรรมการปรับตัวของอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ในจังหวัดสมุทรสาคร ต่อสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วยตัวแปรเชิงสาเหตุ ได้แก่ การรับรู้ความเสี่ยง การประเมินการเผชิญปัญหา และการสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่างคือ อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จำนวน 240 คน ใช้แบบสอบถามเชิงปริมาณเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สมการโครงสร้างพฤติกรรมการปรับตัวของอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ และตรวจสอบความสอดคล้องจากอิทธิพลทางตรงและความกลมกลืนระหว่างโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยใช้เกณฑ์ของ Chi-Square, RMSEA, RMR, CFI, GFI และ AGFI ผลการศึกษาพบว่า หลังจากปรับโมเดลแล้วพบว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยถือว่าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พิจารณาได้จาก χ2= 52.497, df = 43, p = .152, RMSEA = .030, RMR = .006, CFI = .995, GFI = .965, AGFI = .936 โมเดลสมการโครงสร้างมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการปรับตัวของอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ โดยการรับรู้ความเสี่ยง มีค่าอิทธิพลทางตรงเท่ากับ .15 การประเมินการเผชิญปัญหา มีค่าอิทธิพลทางตรงเท่ากับ -.20 และการสนับสนุนทางสังคม มีค่าอิทธิพลทางตรงเท่ากับ .93 และตัวแปรในโมเดลสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการปรับตัว ได้ร้อยละ 71.7 ข้อสรุปจากการวิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ คือ หน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ควรให้การสนับสนุนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถปรับตัวจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น การส่งเสริมปัจจัยด้านการรับรู้ความเสี่ยงและการสนับสนุนทางสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-06

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)