การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ของชุมชนสัมมาชีพในจังหวัดแพร่
คำสำคัญ:
การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้, ชุมชนสัมมาชีพ, ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และการถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้วิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนสัมมาชีพในจังหวัดแพร่ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ ปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 10 คน กลุ่มเยาวชน จำนวน 20 คน และกลุ่มประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ จำนวน 20 คน เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์ หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นและแบบประเมินความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหาและการอบรมเชิงปฏิบัติการใช้การประเมินโดยแบบประเมิน ใช้ค่าสถิติ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
- กระบวนการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ชุมชนบ้านบวกโป่งเป็นแบบการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น อาศัยประสบการณ์การทำไม้มาแต่อดีตทำให้เกิดการพัฒนามาเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่าย ทักษะการสร้างสรรค์ชิ้นงานจึงเกิดจากการเรียนรู้ ทดลองทำจนเกิดความชำนาญสร้างสรรค์ผลงานเป็นมรดกทางปัญญา แต่ยังขาดทักษะการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้สักแบบใหม่ๆ
- กระบวนการถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้ มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาทักษะ
การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ผู้ถ่ายทอดเป็นปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากรผู้มีองค์ความรู้ในท้องถิ่นทั้งด้านการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้สัก เป็นหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นจำนวน 20 ชั่วโมง ให้ความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้สัก - การประเมินทักษะการเรียนรู้ พบว่าในภาพรวมและในรายด้านมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยความรู้หลังการเข้ารับการอบรมมีระดับความคิดเห็นมากกว่าก่อนเข้ารับการอบรม และผู้เข้ารับการอบรมให้ความสนใจในกิจกรรมอย่างดียิ่ง